สำนักพิมพ์ผู้จำหน่ายตำราเรียนมักอาศัยตัวแทนฝ่ายขาย ทำหน้าที่โน้มน้าวอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้ยอมรับรายชื่อตำราเรียนที่สำนักพิมพ์จำหน่าย เพื่อใช้ในการเรียนการสอน แต่กรณีตำราเรียนจากแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (Open Educational Resources: OER) ซึ่งเป็นตำราเรียนฟรีหรือเป็นตำราเรียนที่มีราคาถูก ใครจะทำหน้าที่โน้มน้าวอย่างตัวแทนฝ่ายขาย…คำตอบ คือ ห้องสมุดมหาวิทยาลัย
ยกตัวอย่าง University of Texas เมือง Arlington บรรณารักษ์การศึกษาแบบเปิด (Open Education Librarian) ชื่อ Michelle Reed ได้ตั้งโครงการหนึ่งขึ้น ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการสร้างชุดวิดีโอเพื่อโปรโมท “Textbook Heroes” ซึ่งหมายถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ใช้ตำราเรียนจากแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (OER) แทนตำราเรียนที่ต้องซื้อหาจากสำนักพิมพ์ ซึ่งมีราคาแพง จากการสัมภาษณ์นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย พบว่า นักศึกษาหลายคนได้บ่นเรื่องราคาของตำราเรียนที่มีราคาสูง ทำให้นักศึกษาบางคนไม่สามารถซื้อตำราเรียนที่อาจารย์แนะนำได้ นอกจากนี้ นักศึกษายังแสดงความหวังที่ว่า อาจารย์ผู้สอนจะนำแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดเข้ามาใช้แทนที่ตำราเรียนราคาแพงจากสำนักพิมพ์
วิทยาลัยต่างๆ กำลังเริ่มจัดตั้งระบบสนับสนุน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดมาใช้ในการเรียนการสอน และเพื่อช่วยให้อาจารย์ในวิทยาลัยสามารถหาตำแหน่งความแตกต่างที่มาพร้อมกับการใช้ทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดแทนการใช้ตำราเชิงพาณิชย์ แม้ว่าอาจารย์จะเชื่อมั่นในการทดลองใช้แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด แต่อาจารย์มักมีคำถาม เช่น วิธีการค้นหาแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดและวิธีการเลือกแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดที่มีคุณภาพสูงทำอย่างไร
Michelle Reed ตอบคำถามข้างต้นของอาจารย์กับการนำแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดมาใช้ ด้วยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติสำหรับอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของคณะ และการเป็นที่ปรึกษาแบบตัวต่อตัว นอกจากนี้ Michelle Reed ยังติดตามว่าการนำแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดมาใช้ให้ผลเป็นอย่างไร และคำนวณจำนวนเงินที่สามารถประหยัดได้จากการใช้แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดแทนตำราเรียนเชิงพาณิชย์ โดยก่อนนี้ University of Texas เมือง Arlington มีระบบอื่นๆ เพื่อสนับสนุนแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด แต่ยังขาดผู้ที่จะมาติดตามและรายงานความคืบหน้าการนำแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดมาใช้ ดังนั้น Michelle Reed จึงถูกมอบหมายให้มีหน้าที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
อีกวิธีการหนึ่งที่ห้องสมุดให้มหาวิทยาลัยมีแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดคือการรวมกลุ่มกันเพื่อแบ่งปันสารสนเทศเกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด ตัวอย่างเช่น Open Textbook Library ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเครือข่ายห้องสมุด ที่บริหารจัดการโดย University of Minnesota’s Center เพื่อการศึกษาแบบเปิด โดย Open Textbook Library รวบรวมลิงค์รายชื่อทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดและความคิดเห็นที่เขียนโดยอาจารย์ ปัจจุบันมีสถาบันประมาณ 650 แห่ง เข้าร่วมเป็นสมาชิก
ผู้นำวิทยาลัยบางแห่งหวังว่าการใช้แนวทางที่เป็นระบบในการสนับสนุนแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดสามารถทำให้แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดเป็นคู่แข่งที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นเมื่อต้องแข่งขันกับตำราเรียนเชิงพาณิชย์ โดย Shanna Smith Jaggars ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความสำเร็จของนักเรียน ที่ Ohio State’s Office of Distance Education and E-Learning ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามีคนเล่นเรื่องแหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดมากขึ้นในจุดหนึ่ง อาจส่งผลให้สำนักพิมพ์รายเดิมๆ ยอมลดราคาสื่อการเรียนการสอนที่จำหน่ายเพื่อการแข่งขันได้
ที่มา: Young, J. F. (2018, January 4). As Campuses Move to Embrace OER, College Libraries Become Key Players. Retrieved January 13, 2018, from https://www.edsurge.com/news/2018-01-04-as-campuses-move-to-embrace-oer-college-libraries-become-key-players