วารสารข่าว วิทย์ปริทัศน์ ฉบับเดือน พฤษภาคม 2564
กีฏวิทยา Entomology ศาสตร์ว่าด้วยแมลง
กีฏวิทยา (Entomology) เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งของสัตววิทยา (Zoology) โดยศึกษารายละเอียดของแมลงโดยตรง ดังนั้นกีฏวิทยาถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Science) และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) แบ่งการศึกษาออกเป็นสาขาต่าง ๆ ดังนี้ :
กีฏวิทยาบริสุทธิ์
ศึกษาเกี่ยวกับแมลงโดยตรงแบ่งเป็นวิชาต่าง ๆ ดังนี้
– Insect Morphology ศึกษาเกี่ยวกับรูปร่าง สัณฐานวิทยาของแมลง
– Insect Physiology ศึกษาเกี่ยวกับระบบสรีรวิทยาของแมลง
– Immature Insect ศึกษาเกี่ยวกับตัวอ่อนของแมลง
– Insect Anatomy ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างภายในของแมลง
– Insect Taxonomy ศึกษาเกี่ยวกับการจำแนกชนิดของแมลง
กีฏวิทยาประยุกต์
ศึกษาเกี่ยวกับแมลงที่มีประโยชน์ในด้านมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนี้
– Medical and Veterinary Entomology ศึกษาเกี่ยวกับแมลงที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสัตวแพทย์
– Insect Pest of Horticulture ศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และแมลงที่ช่วยในการกำจัดศัตรูพืช
– Forest Entomology ศึกษาเกี่ยวกับแมลงที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของป่า
– Apiculture ศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะเลี้ยงผึ้งชนิดต่าง ๆ โรคของผึ้ง และศัตรูของผึ้ง เพื่อนำไปพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
– Insect Transmission of Plant Disease ศึกษาเกี่ยวกับแมลงที่เป็นพาหะ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ในพืช
นักกีฏวิทยา
มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับแมลง การเจริญเติบโต โครงสร้าง กระบวนการและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงงชีวิตของแมลง และความสัมพันธ์ระหว่างแมลงกับชีวิตพืชและสัตว์ ช่วยควบคุม แก้ไขปัญหา ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูทางการเกษตร เช่น แมลงศัตรู ธัญพืช พืชไร่ นา พืชสวน ไม้ยืนต้น ป่าไม้ แมลงทำลายผลผลิตในโรงเก็บ และแมลงพาหะนำโรคมาสู่พืช ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาในการควบคุมหรือกำจัดแมลงในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและป้องกันการแพร่ระบาดของแมลงที่เป็นอันตรายในพื้นที่ทำการเกษตร
อีกหน้าที่หนึ่งคือการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีและหลักการในการระบุและให้ชื่อแมลง แหล่งที่อยู่อาศัย วงจรชีวิตของแมลงแล้วจำทำระบบฐานข้อมูลหมวดหมู่ การวางรูปแบบ การวิเคราะห์ชนิดและการวินิฉัยลำดับอนุกรมวิธานแมลง ให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงกฎหมายห้ามจับและป้องกันการลักลอบจับแมลงอนุรักษ์ แมลงสวยงามหายาก เช่น แมลงอนุรักษ์ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือไซเตส (CITES) และเป็นที่รู้จักในชื่อ อนุสัญญากรุงวอชิงตัน (Washington Convention) ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย 13 ชนิด คือ ด้วงกว่างดาว ด้วงคีมยีราฟ ด้วงดินขอบทองแดง ด้วงดินปีกแผ่น ผีเสื้อกลางคืนค้างคาว ผีเสื้อกลางคืนหางยาว ผีเสื้อไกเซอร์ ผีเสื้อถุงทอง ผีเสื้อนางพญา ผีเสื้อภูฐาน ผีเสื้อรักแร้ขาว ผีเสื้อหางดาบน้ำตาลไหม้ ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว
ประโยชน์และโทษของแมลง
ประโยชน์ของแมลง
– ช่วยในการผสมละอองเกสรให้พืช พืชไร่ พืชสวน พืชผัก ตลอดจนหญ้าแมลงที่ช่วยผสมละอองเกสร และแมลงที่สำคัญในการผสมละอองเกสรคือ ผึ้ง ผีเสื้อ แมลงภู่ และแมลงวัน เป็นต้น
– ผลผลิตจากแมลงนำมาทำประโยชน์ในทางการค้า เช่น ผ้าไหม เส้นไหม ได้มาจากผีเสื้อหนอนไหม ผีเสื้อยักษ์ ครั่งได้มาจากแมลงครั่งซึ่งเป็นเพลี้ยหอยชนิดหนึ่ง น้ำผึ้ง ไขผึ้ง นมผึ้ง (Royal Jelly) เกสรผึ้ง (Pollen grain) ได้จากผึ้ง และสีย้อม (Chocineal Dye) ได้มาจากเพลี้ยหอย (Cochineal Insect) เป็นต้น
– ช่วยในการกำจัดแมลงศัตรูพืชและวัชพืช โดยการเป็นแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite) ตัวอย่างแมลงตัวห้ำ ได้แก่ แมลงปอ แมลงช้าง แมลงวันหัวบุบ ตั๊กแตนตำข้าว คอยจับสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น ยุง แมลงหวี่ และเพลี้ย ส่วนแมลงตัวเบียน เช่น ต่อเบียน แตนเบียน แมลงวันกันขน แตนหางธง และต่อขุดรู จะทำลายผีเสื้อ ด้วง ได้ในระยะไข่ ระยะหนอน ระยะดักแด้ แมลงตัวห้ำ แมลงตัวเบียน มีความสำคัญเพราะช่วยลดประชากรของแมลงศัตรูพืช ไม่มีวิธีป้องกันกำจัดใดได้ดีเท่ากับแมลงปราบกันเอง
– นำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้านพันธุกรรม และทางด้านการแพทย์ เช่น แมลงหวี่ Drosophila melanogaster นำมาศึกษาการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม การเพิ่มลดของประชากร เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง มักนิยมใช้จำนวนประชากรของแมลงเป็นตัวบ่งบอกสภาพของสิ่งแวดล้อมในการ ศึกษามลภาวะ
– แมลงบางชนิดโดยเฉพาะ ผีเสื้อ และด้วง จะมีสีสันสวยงามทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกเป็นสุขจิตใจเบิกบาน แจ่มใส และสดชื่น
โทษของแมลง
– ความเสียหายที่เกิดกับพืชผล แมลงส่วนใหญ่สามารถทำลายพืชทุกชนิด และผลของการทำลายทำให้ผลผลิตลดลงกระทั่งทำให้พืชตายได้ เช่น
1. โดยการกัดกิน ใบ กิ่งก้าน ตาดอก ยอด ลำต้น ราก และผลของพืช ได้แต่ ตั๊กแตนกัดกินข้าว และข้าวโพด ด้วงปีกแข็งกัดกินใบข้าวโพด องุ่น ส้ม บางชนิดกินรวงข้าว ข้าวฟ่าง และหนอนของต่อ แตน บางชนิดกัดกิน ใบพืช เช่น ต่อฟันเลื่อยจะกัดกินใบสน
2. โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอด ลำต้น ราก และผล ได้แก่ มวนชนิดต่าง ๆ เพลี้ยอ่อน จักจั่น ฯ มวนเขียวข้าว มักจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบต้น และรวงของข้าว ข้าวฟ่าง
3. ทำให้เกิดปุ่มปม ตามต้น ยอด และใบพืช เช่น เพลี้ยไก่ฟ้ายอดชะอมทำให้เกิดปุ่มปม ที่ยอดอ่อนเรียกว่า ชะอมไข่ บั่วข้าวทำให้เกิดปมที่ต้นข้าวแล้วเป็นหลอดคล้ายใบหอม เป็นเหตุให้ข้าวไม่ออกรวง
4. ทำให้เกิดเชื้อโรคชนิดใหม่ ได้แก่ โรคราสนิม มีแมลงช่วยผสมข้าม ทำให้เกิดเชื้อโรคใหม่ ๆ ทำให้พืชเกิดโรคได้ แมลงที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ทำให้สปอร์ของเชื้อราจากที่หนึ่งไปผสมกับอีกที่หนึ่งได้
– เป็นพาหะนำโรคมาสู่คนและสัตว์ เช่น ยุงก้นปล่องเป็นพาหะโรค ไข้มาลาเรีย ยุงลายเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และยุงรำคาญเป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้าง
– ทำให้รู้สึกขยะแขยง เมื่อแมลงไต่ตอมตามผิวหนัง ได้แก่ หนอนผีเสื้อที่อยู่ตามต้นไม้ หมัดที่ดูดกินเลือดคนและสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ
– โดยเหตุบังเอิญแมลงอาจเข้าตา หู จมูก หรือเข้าคอ เกิดการอักเสบ ได้แก่ แมลงวันตอมตา และแมลงที่บินเข้าหาแสงไฟยามค่ำคืน อาจเป็นเหตุให้เกิดโรค มายเอียซีส (Myiasis) ในกรณีที่บังเอิญตัวหนอนแมลงนั้นเข้าไปยังส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
แมลงกับการพัฒนาโลกทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ยารักษาโรค
ยาปฏิชีวนะในสมองแมลงสาบฆ่าเชื้อ MRSA และ E. coli Bacteria
ยาปฏิชีวนะในสมองแมลงสาบอาจนำไปสู่ยาฆ่าแบคทีเรียชนิดใหม่ นักวิจัยค้นพบโมเลกุลต้านเชื้อแบคทีเรียที่ผลิตตามธรรมชาติในแมลงสาบ โมเลกุลเหล่านี้พบในสมองของแมลงสาบสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียร้ายแรง เช่น MRSA และ E. Coli การทดลองพบว่ายาปฏิชีวนะในสมองของแมลงสาบมีประสิทธิภาพและไม่เป็นพิษต่อมนุษย์
มดป่าอเมริกาใต้บรรเทาอาการข้ออักเสบ
Dr. Roy D. Altman และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามีได้วิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของพิษมดสำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ในกลุ่มผู้ป่วยได้รับการฉีดสารสกัดจากพิษที่เจือจาง ผู้ที่ได้รับอนุพันธ์ของพิษแสดงให้เห็นจำนวนและความรุนแรงของข้อต่อที่อักเสบลดลงอย่างมากและแสดงให้เห็นว่ามีอิสระในการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีผู้ป่วยรายใดมีอากาแพ้พิษและไม่มีอาการข้างเคียงแม้แต่น้อย
“Spanish Fly” แมลงวันสเปน หรือ ด้วงน้ำมันสีเขียว ช่วยเรื่องติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและต่อสู้กับมะเร็ง
แมลงวันสเปน (Spanish Fly) เป็นแมลงปีกแข็งสีเขียวมรกตสายพันธุ์ที่ชื่อ “Blister Beetle” มีสารที่เรียกกันว่า แคนธาริดิน (Cantharidin) เมื่อนำไปเจือจางเพื่อการใช้ยาสามารถช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนเกี่ยวกับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแมลงสัตว์กัดต่อย ปัญหาเกี่ยวกับไต และแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก นักวิจัยค้นพบว่าแคนธาริดินทำปฏิกิริยากับสารพันธุกรรมของเซลล์ที่ไม่เป็นมิตร ดังนั้นจึงอาจมีประโยชน์ในการรักษามะเร็งเนื้องอกที่ทนต่อรังสีและเคมีบำบัดได้มากที่สุด
การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี
ร่างกายของต่อหัวเสือสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์ได้
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ได้แสดงให้เห็นว่าต่อหัวเสือสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์และเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ เปลือกของแมลงสีน้ำตาลและสีเหลือ หรือ โครงกระดูกภายนอกสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยสารเคมีในเม็ดสีเหลืองที่ช่องท้องของต่อ
ขวดน้ำแรงบันดาลใจจากด้วง
ด้วงดำแห่งทะเลทรายนามิเบีย (Stenocara gracllipes) เป็นยอดนักประหยัด ใช้น้ำทุกหยดซึ่งหายากยิ่งในทะเลทรายอย่างรู้คุณค่า ทุก ๆ เช้าขณะหมอกลงจัด ด้วงดำจะออกเดินเพื่อเก็บน้ำค้างลงบนลำตัว งานออกแบบจากธรรมชาตินี้นักประดิษฐ์ชาวเกาหลีใต้ Pak Kitae จากมหาวิทยาลัย Seoul National University of Technology พลิกแพลงเป็นอุปกรณ์กักเก็บน้ำค้าง ไม่ต้องใช้พลังงาน
Dew Bank Bottle เป็นภาชนะที่มีรูปแบบทรงโดมที่มีผิวมีความลื่นสูง ทำให้หยดน้ำไหลไปเก็บด้านในโดยไม่ระเหยออก เหมาะสำหรับพื้นที่ทุรกันดาร ได้รับรางวัล Idea Design Awards ปี 2010
แนวคิดฟาร์มแนวตั้งจากแมลงปอ
การออกแบบแนวคิดล่าสุดจาก Vincent Callebaut Architects ตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของเกาะ Roosevelt ในนิวยอร์ก เป็นแนวคิดฟาร์มแนวตั้ง 128 ชั้นจัดเรียงไว้รอบอาคารสูง 700 เมตร ห่อด้วยกระจกขนาดใหญ่และเรือนกระจกเหล็กที่เชื่อมโยงกัน รูปทรงการออกแบบรองรับน้ำหนักของอาคารได้รับแรงบันดาลใจจากโครงกระดูกภายนอกของปีกแมลงปอที่มาจากตระกูล “Odonate Anisoptera”
หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างจากแรงบันดาลใจจากฝูงมด The R-One
จากการศึกษาโดยนักฟิสิกส์และวิศวกร มดสามารถยกน้ำหนักตัวเองได้ 10-50 เท่า สามารถว่ายน้ำและที่น่าทึ่งในการประสานงานซึ่งกันและกัน
James McLurkin จาก MIT ได้สร้างหุ่นยนต์ที่มีพฤติกรรมเหมือนมด น้ำหนักประมาณสิบเอ็ดออนซ์และเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้วและสูง 2 นิ้ว หุ่นยนต์มีขนาดเล็กภายในที่ทำให้หุ่นยนต์สื่อสารกันได้คล้ายกับฝูงมด หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมีเป้าหมายในการสำรวจค้นหาและช่วยเหลือการกู้คืน การทำแผนที่ และการเฝ้าระวัง สามารถใช้จัดการทุกอย่างตั้งแต่การค้นหาผู้รอดชีวิตหลังจากเกิดแผ่นดินไหวไปจนถึงการสำรวจพื้นผิวของดาวอังคาร
เมื่อแมลงแปลงเป็นอาหารมนุษย์
วัฒนธรรมการกินแมลง
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) ให้การยอมรับว่าแมลงเป็นอาหารทางเลือกใหม่ตั้งแต่ ค.ศ. 2013 และได้ทำรายชื่อแมลงที่สามารถรับประทานได้กว่า 2,200 ชนิด FAO ยังได้รายงานเพื่อชี้ชัดว่าการกินแมลงเป็นทางออกใหม่ที่สามารถช่วยให้ประชากรโลกหลุดพ้นจากวิกฤตอาหารเพราะแมลงเป็นแหล่งอาหารที่มีไขมันต่ำ โปรตีนและไฟเบอร์สูง
การกินแมลงในประเทศต่าง ๆ
ทวีปเอเชีย
ญี่ปุ่น มีวัฒนธรรมการนำแมลงมาปรุงเป็นอาหาร เช่น การรับประทาน “แตน” ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมนำตัวอ่อนของแตนมารับประทานทั้งแบบดิบและแบบสุก โดยแบบสุกจะนำไปปรุงกับขิง ซีอิ๊ว และ (เหล้า) มิริน ส่วนอินโดนีเซียนิยมทาน Botok Tawon หรือห่อหมกตัวอ่อนผึ้ง เกาหลีมี Beondegi หรือดักแด้ทอด
ส่วนประเทศอื่น ๆ ในเอเชียนิยมรับประทานแมลงเช่นกัน จีน กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ซึ่งแมลงกินได้ที่พบในประเทศไทยมีมากกว่า 50 ชนิด เช่น แมลงดานา แมลงตับเต่า แมลงกุดจี่ แมลงทับ จิ้งหรีด แมลงกระชอน ตั๊กแตนปาทังก้า แมลงเม่า มดแดง ผึ้ง ต่อ แตน ดักแด้ไหม และหนอนไผ่ เป็นต้น ซึ่งการศึกษาพบว่าแมลงเหล่านี้มีปริมาณโปรตีนใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์
ทวีปอเมริกา
เม็กซิโก สินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับบ้าน เหล้าเตกีล่าดองหนอน ซึ่งเป็นหนอนราคาแพง คือ หนอนแดง (red worms) เป็นหนอนที่อยู่บริเวณต้นอากาเว พืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีทรงพุ่มแผ่เป็นวงกว้าง
ทวีปแอฟริกา
ปลวกเป็นแมลงนิยมในพื้นที่แถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา วิธีปรุง คือ เอาไปต้มแล้วคั่วกับเกลือ ส่วนประเทศบูร์กินาฟาโซ อาหารประจำฤดูฝนคือ หนอนต้นเชีย (shea caterpillars) นำมาตุ๋นหรือเอามาทอด นอกจากนี้ด้วงมะพร้าวเป็นอาหารในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
แมลง อาหารยุคใหม่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
แมลงมีแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นกับร่างกายมนุษย์เป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์และโปรตีนชนิดอื่น ๆ ทั้งยังมีปริมาณไขมันน้อยกว่า
ไทยมุ่งเป็นศูนย์กลางผลิตแมลง ส่งออกทั่วโลก
เพื่อให้สอดรับแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) ประกาศให้แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตแมลง “ฮับแมลงโลก” รับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) เพื่อเจาะตลาดโลกกว่า 3 พันล้านบาท กำหนดนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ ตลาดแมลงของไทยสามารถส่งออกได้ทั้งแบบเป็นตัวและแปรรูป โดยฟาร์มส่วนใหญ่จะส่งขายแมลงแบบเป็นตัว แมลงที่เกษตรกรไทยนิยมเพาะเลี้ยง เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมงป่อง ดักแด้ ด้วง มด ฯลฯ ปัจจุบันมีการทำธุรกิจแมลงส่งออก เช่น แมลงบรรจุในถุงฟลอยด์ แป้งโปรตีนจากแมลง แมลงบรรจุกระป๋อง ขนมในรูปแบบแมลงเคลือบช็อคโกแล็ต ลูกอมแมลง แมลงอบแห้งขายส่ง ฯลฯ
ข่าวแมลงในสหรัฐฯ ที่น่าสนใจ
ยุงดัดแปลงพันธุกรรมตัวแรกที่ปล่อยในสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา ได้ทำการดัดแปลงพันธุกรรมยุงเพื่อยับยั้งการแพร่ขยายพันธุ์ยุงตัวอื่นและลดการระบาดโรค และได้ปล่อยในเกาะ Florida Keys การปล่อยยุงดัดแปลงพันธุกรรมกว่า 750 ล้านตัว ในปี 2021 และ 2022 ยุงที่พัฒนานี้มีชื่อว่า OX5034 ซึ่งที่ถูกนำมาปล่อยจะเป็นยุงตัวผู้ ไม่กัดมนุษย์โดยพันธุกรรมจะส่งต่อไปให้ลูกของมันในอนาคต ลดการเพิ่มประชากรยุง ลดอัตราการแพร่เชื้อโรคต่าง ๆ ได้ทำการทดลองแล้วใน Cayman Islands, Panama และ Brazil ความสำเร็จลดประชากรยุงได้จำนวนมากภายในไม่กี่เดือน
จะเกิดอะไรขึ้นหากแมลงหายไป?
1.ห่วงโซ่อาหารล่มสลาย
ผลกระทบคือ แมลงคือสัตว์ในห่วงโซ่อาหารที่นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และปลา กินเป็นอาหาร หากแมลงหายไป สัตว์เหล่านี้จะขาดอาหาร และสัตว์ใหญ่ที่อาศัยกินสัตว์ในห่วงโซ่อาหารต่อมาต้องล้มตายเป็นทอด ๆ ตัวอย่างการศึกษาที่เปอร์โตริโก พบว่า เมื่อแมลงหายไป ปริมาณนกและกบหายไปร้อยละ 50-65 นกท้องถิ่นเปอร์โตริกัน โทดี (Puerto Rican tody) หายไปร้อยละ 90
2.ขาดผู้ผลิตอาหารให้กับมนุษย์
ร้อยละ 80 ของการผสมเกสรของพืชทั่วโลกเกิดขึ้นโดยผึ้ง พืชจำพวกธัญญาหารได้รับการผสมเกสรทางลม แต่พืช เช่น ผลไม้ ถั่ว ผักต่าง ๆ รวมถึงโกโก้ และกาแฟ เป็นผลงานของผึ้ง แต่ถิ่นที่อยู่ของผึ้งกำลังหายไป และถูกซ้ำเติมด้วยสารเคมีฆ่าแมลง
แมลงเป็นผู้สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน เปลี่ยนธาตุอาหารอินทรียวัตถุทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ กระบวนการผลิตอาหารกำลังล่มสลายด้วยการใช้สารเคมี จนกระทั่งแมลงระบบนิเวศตามธรรมชาติไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน เมื่อไม่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ก็ไม่มีอาหาร ไม่มีแหล่งน้ำที่สะอาด ดินที่เหมาะกับการเพาะปลูก หรือแม้อากาศดี ๆ สำหรับหายใจ
เราช่วยแมลงยังไงได้บ้าง?
1.ร่วมกันแบบการใช้สารเคมีอันตรายหลักในการทำเกษตร อาทิเช่น พาคาควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสท สารเคมีอันตรายเหล่านี้ ท้ายที่สุดส่งผลต่อคนเช่นกัน
2. ลดการบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีกระบวนการทำลายป่าไม้ และปลูกพืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ เพื่อเป็นอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ของแมลง ใช้สารเคมีมหาศาล ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ และทางอากาศ (จากการเผาวัสดุการเกษตรในที่โล่ง)
3. อุดหนุนและสนับสนุนอาหารที่ผลิตขึ้นด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรมเชิงนิเวศ เป็นวิถีเกษตรแบบดั้งเดิมโดยไม่ใช้สารเคมี และอิงวิถีธรรมชาติ ไม่เน้นการผลิตเพื่อปริมาณและอุตสาหกรรม จะเลี่ยงการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและส่งเสริมความหลากหลายเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและดิน ซึ่งเอื้อกับการผสมเกสรของแมลง และมีกระบวนการควบคุมโรคและศัตรูพืชตามธรรมชาติ สุขภาพของคนปลูกและคนกินก็ดีด้วย
การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์เพื่อการสื่อสาร กับอาจารย์วิชัย มะลิกุล
การวาดภาพทางกีฏวิทยาให้ประโยชน์ทางด้านศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ศิลป์จะนำมามาช่วยวิทย์ การอธิบายด้วยภาพที่เจาะจงเจาะลึกในเนื้อหา มีส่วนช่วยให้เห็นความชัดเจน ยากที่จะอธิบายด้วยอักษร
อาจารย์วิชัย มะลิกุล เป็นนักวาดภาพวิทยาศาสตร์ของภาควิชากีฏวิทยา สถาบันสมิทโซเนียน ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ภาพที่สร้างชื่อมากที่สุด คือ ภาพวาดสีน้ำรูปผีเสื้อ ได้รับรางวัลภาพวาดดีเด่นจากงานประชุมการติดต่อสื่อสารทางด้านชีววิทยา ระดับโลก (World Congress of Biocommunications) เมื่อปี 2547 อาจารย์วิชัยฯ ได้ทำคุณประโยชน์เผยแพร่วิชากีฏวิทยาไม่ว่าแมลงที่เป็นพาหะนำโรคแมลงศัตรูพืชหรือความสวยงามของผีเสื้อ ภาพวาดมีความเหมือนละเอียดอ่อน สีสันสวยงาม ประโยชน์ในด้านวิชาการและความสวยงามด้านศิลปะธรรมชาติอย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2021/ost-sci-review-may2021.pdf