หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ 9 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา
9 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา
1 ธ.ค. 2560
0
นานาสาระน่ารู้

ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ให้บริการโปรแกรมเพื่อวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property – IP) เช่น Derwent Innovation PatSnap และ Questel เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศ แต่ราคาโปรแกรมดังกล่าวมักมีราคาสูง ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อโปรแกรมดังกล่าว จึงควรพิจารณาข้อมูลในหลากหลายด้าน ซึ่งสามารถสรุปได้ 9 ข้อ ดังนี้ 

ความครอบคลุมและคุณภาพของข้อมูล

ประเด็นแรกและเป็นประเด็นสำคัญที่ควรศึกษาและพิจารณาเมื่อต้องลงทุนซื้อโปรแกรมเพื่อวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา คือ ความครอบคลุมและคุณภาพของข้อมูลที่โปรแกรมมีให้บริการ เช่น โปรแกรมครอบคลุมเอกสารสิทธิบัตรในพื้นที่ประเทศใดบ้าง ผลลัพธ์ของการสืบค้นที่ได้จากโปรแกรมคือข้อมูลเชิงสรุปหรือเนื้อความทั้งหมดเกี่ยวกับสิทธิบัตร ข้อมูลสิทธิบัตรที่อยู่ในโปรแกรมถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือมีเพียงภาษาตามสิทธิบัตรที่ยื่นขอ เช่น ญี่ปุ่น จีน หรือเยอรมัน เป็นต้น หากมีการแปลต้นฉบับเอกสารสิทธิบัตร การแปลนั้นเป็นการแปลเนื้อหาฉบับเต็มโดยทั้งหมดหรือเป็นการแปลเพียงส่วนย่อย จำนวนของวรรณกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่สิทธิบัตร เช่น วารสาร เอกสารการประชุม วิทยานิพนธ์ บทคัดย่อ และรายงานทางเทคนิค เป็นต้น ที่ถูกรวมอยู่ภายในชุดข้อมูลของโปรแกรมมีประมาณเท่าไหร่  และการเข้าถึงวรรณกรรมดังกล่าว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือไม่ มากน้อยเท่าไหร่

โปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญาบางโปรแกรมสามารถค้นหาข้อมูลได้จากทั่วโลก ขณะที่บางโปรแกรมอาจจะคิดค่าบริการเพิ่ม โปรแกรมบางโปรแกรมอาจไม่ครอบคลุมพื้นที่หรือภูมิภาคที่สำคัญ ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อโปรแกรมดังกล่าว จะต้องแน่ใจว่าผู้ให้บริการให้บริการข้อมูลเอกสารสิทธิบัตรครอบคลุมพื้นที่ที่เราสนใจและต้องการทั้งหมด

คุณภาพและความสัมพันธ์ของข้อมูล

เอกสารสิทธิบัตรจำนวนมากอาจสะกดชื่อเจ้าของบริษัทเดียวกันซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิบัตรแตกต่างกัน และข้อมูลองค์ประกอบสิทธิบัตรบางอย่างอาจถูกป้อนผิด นอกจากนี้การควบและการเข้าซื้อกิจการเกิดขึ้นได้ในทุกวัน ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา ควรจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทที่ให้บริการโปรแกรมฯ มีการตรวจสอบและอัพเดทข้อมูลดังกล่าวสม่ำเสมอและต่อเนื่องหรือไม่ เพราะข้อมูลที่คาดเคลื่อนหรือผิดเพี้ยนไปย่อมส่งผลต่อการวิเคราะห์ข้อมูล ตัวอย่างประเด็นที่ควรคำนึงถึง เช่น ข้อมูลที่มีให้บริการนั้นพร้อมสำหรับการวิเคราะห์แล้วหรือไม่ หรือต้องมีการแก้ไขปรับปรุงข้อมูลด้วยมือก่อน หากมีองค์ประกอบบางอย่างของข้อมูลที่ขาดหายไปสามารถเพิ่มเติมเข้าไปได้หรือไม่ ความถี่ของการอัพเดทข้อมูลสิทธิบัตร กรณีบริษัทหนึ่งซื้อกิจการของบริษัทอื่นๆ ความถี่ของการอัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับการโอนสิทธิ์ของสิทธิบัตรเป็นอย่างไร

ด้วยปริมาณของข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ วัน ทั่วโลก ไม่มีระบบหรือโปรแกรมใดที่จะให้บริการข้อมูลที่อัพเดทและสมบูรณ์แบบ 100% ในทุกๆ ช่วงเวลา เมื่อผู้ใช้บริการพบข้อมูลหรือสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนในระบบหรือโปรแกรมดังกล่าว ระบบหรือโปรแกรมคววรมีช่องทางหรือกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถรายงานเรื่องดังกล่าวได้ เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ข้อมูลที่มีการอัพเดตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และข้อมูลอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล

วิธีการค้นหาข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลสิทธิบัตรเริ่มต้นด้วยการค้นหาสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อง วิธีการค้นหาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องและมีความมั่นใจในผลลัพธ์ที่ค้นคืนได้มากยิ่งขึ้น ประเด็นที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการค้นหาข้อมูล เช่น คำค้นที่เป็นมาตรฐานจะช่วยให้สามารถค้นหาและได้รับผลการสืบค้นที่เกี่ยวข้องและต้องการหรือไม่ ผู้ใช้สามารถใช้ตรรกบูลีน เช่น AND NOT หรือ OR และการใช้สัญลักษณ์ (Wildcard) เพื่อช่วยให้การค้นหา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความต้องการมากที่สุดหรือไม่ นอกเหนือจากการค้นหาข้อมูลเอกสารสิทธิบัตรด้วยสำคัญแล้ว โปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถค้นหาข้อมูลด้วยแนวคิดหรือความสัมพันธ์ได้หรือไม่ (Semantic search) ผู้ใช้บริการสามารถค้นหาข้อมูลด้วยเมทาดาทา เช่น รหัสการจัดหมวดหมู่ การอ้างอิง วันที่ ชื่อเจ้าของบริษัท และนักประดิษฐ์ ได้หรือไม่ การค้นหาสิทธิบัตรล่าสุดทั้งหมดที่คู่แข่งเป็นเจ้าของมีความยากง่ายเพียงไร การบันทึกการค้นหาและผลลัพธ์ของการค้นหาง่ายหรือไม่ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถกลับไปยังข้อมูลดังกล่าวในภายหลังได้

วิธีการค้นหาที่ยืดหยุ่นและรวดเร็วช่วยให้ผู้ใช้ได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องรวดเร็วยิ่งขึ้น และวิธีการค้นหาที่หลากหลายช่วยให้ผู้ใช้มีความยืดหยุ่นในการใช้เทคนิคในการสืบค้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องตรงความต้องการมากที่สุด

เครื่องมือค้นพบ

เครื่องมือค้นพบ (Discovery tools) มีความจำเป็นต่อการค้นพบคำที่ถูกต้องและมีความจำเป็นต่อการจัดระเบียบสิทธิบัตร ประเด็นที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับเครื่องมือค้นพบ เช่น ผู้ใช้สามารถค้นพบสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่ต้องใช้คำสำคัญได้หรือไม่ แต่เริ่มต้นการค้นหาด้วยสิทธิบัตรหรือเอกสารหนึ่งเพื่อหาสิทธิบัตรอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน หรือ ผู้ใช้สามารถค้นพบคำที่ถูกต้องได้โดยเริ่มจากชุดสิทธิบัตรได้หรือไม่

ยังเหลืออีก 5 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไป

ที่มา: Innography. (2015, July 12). 9 Things to Consider When Selecting IP Analysis Software [Web page]. Retrieved from https://www.innography.com/blog/post/9-things-to-consider-when-selecting-ip-analysis-software

1 ธ.ค. 2560
0
แชร์หน้านี้: