จากตอนที่แล้วได้นำเสนอ สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา 4 ข้อแรก ได้แก่ 1. ความครอบคลุมและคุณภาพของข้อมูล 2. คุณภาพและความสัมพันธ์ของข้อมูล 3. วิธีการค้นหาข้อมูล และ 4.เครื่องมือค้นพบ บทความนี้เป็นตอนจบ ซึ่งจะนำเสนอสิ่งที่ควรพิจารณาอีก 5 ข้อ คือ 5. การจัดลำดับความสำคัญของผลลัพธ์ 6. ผลลัพธ์ที่ง่ายต่อการเข้าใจ 7. การปรับแต่งผลลัพธ์ที่ 8. การใช้งานซอฟต์แวร์ และ 9.คุณภาพการบริการและชื่อเสียงของผู้ขาย
การจัดลำดับความสำคัญของผลลัพธ์
โปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญาควรมีฟังก์ชั่นที่ช่วยจัดลำดับความสำคัญของผลลัพธ์เพื่อการวิเคราะห์เชิงลึกที่สะดวกและรวดเร็ว และเพื่อช่วยประหยัดเวลาในการตรวจสอบสิทธิบัตรที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด แทนการที่จะต้องไล่เรียงดูสิทธิบัตรทั้งหมดที่ค้นคืนได้ ทั้งนี้ควรมีการตรวจสอบด้วยว่า การจัดลำดับความสำคัญมีหลักการเป็นมาอย่างไร มีความถูกต้อง และเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
ผลลัพธ์ที่ง่ายต่อการเข้าใจ
กราฟิก และ Visualization สามารถช่วยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ซ่อนอยู่ในผลการวิเคราะห์ สามารถช่วยปรับปรุงรูปลักษณ์และความรู้สึกของรายงานหรือสื่อการนำเสนอ และสามารถช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจข้อมูลผลการวิเคราะห์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้การตัดสินใจเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น อาจกล่าวได้ว่า วิธีการนำเสนอข้อมูลผลลัพธ์มีความสำคัญไม่แพ้กับตัวข้อมูลเอง ดังนั้นการตัดสินใจเลือกซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญาควรตรวจสอบว่าโปรแกรมดังกล่าวมีฟังก์ชั่นการแสดงผลลัพธ์ตรงกับที่ต้องการหรือไม่ ผลลัพธ์ที่แสดงเข้าใจง่ายหรือไม่ กราฟิกสามารถสื่อสารใจความสำคัญได้ชัดเจนครบถ้วนหรือไม่ จำนวนของกราฟิก และ Visualization ที่ให้บริการ และความเร็วในการเข้าถึงกราฟิก และ Visualization ดังกล่าวในการวิเคราะห์
การปรับแต่งผลลัพธ์
การอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งภาพกราฟิก และ Visualization เพื่อนำเสนอข้อมูลผลการวิเคราะห์ที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น โดยไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นสิ่งจำเป็นในกรณีที่แม่แบบของการรายงานหรือการแสดงผลการวิเคราะห์ไม่เหมาะสม ตัวอย่างการปรับแต่งภาพกราฟิก และ Visualization เช่น การเปลี่ยนสี การเปลี่ยนชื่อกลุ่มหรือคำเพื่อให้สื่อความหมายมากยิ่งขึ้นแก่ผู้อ่าน หรือ การลบกลุ่มของสิทธิบัตรหรือหมวดหมู่ที่ไม่จำเป็นในภาพกราฟิก เป็นต้น หากโปรแกรมไม่รองรับเรื่องการปรับแต่งผลลัพธ์ตามที่ต้องการ โปรแกรมยอมให้ผู้ใช้ส่งออกข้อมูลเป็น Microsoft Excel หรือไม่
การใช้งานซอฟต์แวร์
สิ่งที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา คือ การเรียนรู้เพื่อใช้งานหน้าจอของโปรแกรมง่ายหรือไม่ หากไม่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีจะสามารถใช้งานโปรแกรมด้วยตนเองได้หรือไม่ มีเครื่องมือช่วยเหลือออนไลน์เมื่อมีปัญหาในการใช้งานหรือไม่ สามารถใช้งานโปรแกรมผ่านทุกเบราวเซอร์หรือไม่ จำกัดการใช้งานเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ สามารถใช้งานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ มีบริการสนับสนุนลูกค้าจากผู้ขายหรือไม่ มีการทดสอบความเร็วในการประมวลและแสดงผลข้อมูลหรือไม่ โปรแกรมที่ใช้งานง่ายพร้อมทั้งเสนอข้อมูลการสืบค้นสิทธิบัตรที่ถูกต้องและรวดเร็ว ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการวิเคราะห์ สามารถเรียนรู้ และได้รับข้อมูลผลลัพธ์ที่ต้องการรวดเร็วยิ่งขึ้น
คุณภาพการบริการและชื่อเสียงของผู้ขาย
ประเด็นสุดท้ายที่ควรพิจารณา คือ คุณภาพของการบริการของผู้ขาย ข้อพิจารณาเกี่ยวกับคุณภาพการบริการ เช่น จำนวนผู้ที่จะต้องได้รับการฝึกอบรม จำนวนผู้ใช้หรือผู้ดูแลระบบ ระยะเวลาการฝึกอบรม ราคาค่าโปรแกรมและการฝึกอบรม กระบวนการแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโปรแกรม ผู้ขายอัพเดทคำแนะนำเกี่ยวกับโปรแกรมบ่อยและเร็วแค่ไหน ผู้ใช้สามารถติดต่อทีมผลิตภัณฑ์โดยตรงหรือไม่ มีคณะกรรมการที่ปรึกษาลูกค้าเพื่อรับข้อมูลผลิตภัณฑ์จากลูกค้าหรือไม่ ผู้ขายโปรแกรมสนับสนุนชุมชนออนไลน์เพื่อตอบคำถามและแนะนำฟังค์ชั่นการทำงานของผลิตภัณฑ์หรือไม่ ผู้ขายมีการจัดประชุมวิชาการสำหรับผู้ใช้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับฟังค์ชั่นใหม่ เพื่อสร้างเครือข่ายกับผู้ใช้รายอื่น และเพื่อทราบเกี่ยวกับแผนงานในอนาคตของบริษัทผู้ขายหรือไม่ ผู้ขายเข้าเยี่ยมชมลูกค้าบ่อยแค่ไหน
ที่มา: Innography. (2015, July 12). 9 Things to Consider When Selecting IP Analysis Software [Web page]. Retrieved from https://www.innography.com/blog/post/9-things-to-consider-when-selecting-ip-analysis-software