หน้าแรก ภารกิจ กลุ่มพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย
โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย
4 ก.พ. 2564
0
กลุ่มพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย


โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย (Thailand Children’s University)

เป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ Shanghai Institutes for Biological Sciences เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งโครงการมหาวิทยาลัยเด็กในครั้งนั้นได้รับการขยายผลมาจากโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ห้องปฏิบัติการทอยโทแล็บ มหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างมาก มีรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญและพี่เลี้ยงนักศึกษาคอยดูแลให้คำแนะนำระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรมด้วยตนเอง

การดำเนินงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมและมหาวิทยาลัยเครือข่าย รวม 21 แห่ง กระจายทั่วประเทศ โดยแต่ละหน่วยงานจัดกิจกรรมการทดลองให้เด็กและเยาวขนในพื้นที่ของแต่ละหน่วยงาน ประกอบด้วย 1. ภาคกลาง จำนวน 11 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. ภาคตะวันออก จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยบูรพา 3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 4. ภาคเหนือ จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา 5. ภาคใต้ จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

โดยการดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2563 โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ระยะที่ 1 ให้การสนับสนุนการดำเนินงานและจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อให้ได้รับแรงบันดาลใจ และมีทัศนคติที่ดีในการทำการทดลองที่สนุก พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ ได้รับการพัฒนาทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยตนเองเพิ่มขึ้น

สำหรับการดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 – มีนาคม 2565 โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ระยะที่ 2 ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้สะเต็มศึกษา ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้สะเต็มศึกษา ตลอดจนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้และเชื่อมโยงสะเต็มศึกษาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน การใช้สะเต็มศึกษาเป็นฐานเพื่อสร้างให้เยาวชนมีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ประเทศและโลกต้องการ

ติดต่อสอบถาม

ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช.

คุณปัณรสี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
โทรศัพท์: 02-529-7100 ต่อ 77214
Email: banarasi@nstda.or.th

 

4 ก.พ. 2564
0
แชร์หน้านี้: