นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. เผยความสำเร็จการพัฒนาเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมีในชื่อ ENcase ที่ใช้เพียงส่วนผสมระหว่างเกลือกับน้ำบริสุทธิ์ เพื่อทำเป็นสารละลายเกลือแกง ก่อนใช้กระบวนการทางไฟฟ้าทำปฏิกิริยาเคมี จนได้น้ำยาออกมา 2 ชนิดพร้อมกัน คือกรดและด่าง โดยในส่วนที่เป็นกรดมีองค์ประกอบของไฮโปคลอรัส มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งผ่านการทดสอบแล้วพบว่า มีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ทีมนักวิจัยจึงตั้งชื่อน้ำยาในส่วนที่เป็นกรดไฮโปคลอรัสว่า ENERclean
ผลงานดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการพัฒนาเครื่อง Encase สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันได้นำร่องส่งมอบและติดตั้งเครื่องต้นแบบให้กับโรงพยาบาล 10 แห่ง ใน 4 จังหวัด โดยโรงพยาบาลสามารถผลิตน้ำยา ENERclean ใช้ได้เองและนำไปใช้ฆ่าเชื้อในขยะมูลฝอยหรือขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล
น้ำยาฆ่าเชื้อ ENERclean ที่ผลิตได้จากเครื่อง ENcase ยังสามารถนำไปปรับส่วนผสมเพื่อลดความเข้มข้นของคลอรีน สำหรับนำไปใช้ความสะอาดในลักษณะอื่น ๆ เช่น การล้างมือ หรือใช้ทดแทนแอลกอฮอล์ได้โดยไม่เป็นอันตรายกับผู้ใช้งาน เนื่องจากเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติไม่มีส่วนประกอบของสารเคมี อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านการจัดหาอุปกรณ์หรือสารเคมีฆ่าเชื้อของโรงพยาบาล เพราะใช้ทดแทนแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน.