ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานกับอุปกรณ์ประเภทสวมใส่หรือ wearable device เพิ่มมากขึ้น เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มักติดตั้งเซนเซอร์ไบโอเมทริก (biometric sensor) เพื่อจัดเก็บข้อมูลของผู้สวมใส่แบบเรียลไทม์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำไปประมวลผลด้วยอัลกอริทึมแบบ deep learning เพื่อสร้างชุดข้อมูลสุขภาพเชิงลึกให้แก่ผู้สวมใส่ รวมถึงใช้จัดทำคำแนะนำด้านสุขภาพที่มีความแม่นยำสูงได้
นั่นอาจเป็นจุดสำคัญที่ส่งผลให้ในปี 2022 (พ.ศ. 2565) ตลาดผลิตภัณฑ์อุปกรณ์สวมใส่ติด AI (AI wearable device) ทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 8 แสนล้านบาท และคาดว่าช่วงปี 2023-2030 (พ.ศ. 2566-2573) จะขยายตัวขึ้นอีกราวร้อยละ 30 ซึ่งหากเจาะมาที่ประเทศไทยจะพบว่าปัจจุบันคนไทยใส่สมาร์ตวอตช์ (smart watch) มากถึงร้อยละ 19 หรือเกือบ 1 ใน 5 ของประชากร และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องขึ้นอีกราวร้อยละ 23 ต่อปีอีกด้วย
นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีอีกสองปัจจัยที่น่าจะมีส่วนทำให้ตลาดอุปกรณ์สวมใส่ติด AI ทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจัยแรกคืออินเทอร์เน็ตความเร็งสูงที่เสถียร เอื้อให้อุปกรณ์เหล่านี้จัดส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ปัจจัยที่สองคือการที่อุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนช่วยดูแลสุขภาพให้แก่ผู้สวมใส่ ตอบโจทย์เทรนด์ดูแลสุขภาพของคนรุ่นใหม่และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ
ในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นอุปกรณ์สวมใส่ติด AI เพิ่มขึ้นในรูปแบบ แว่นตาอัจฉริยะ (smart glasses), จี้อัจฉริยะ (smart neck pendant), แหวนอัจฉริยะ (smart ring ), เสื้อผ้าอัจฉริยะ (smart clothes), เข็มขัดอัจฉริยะ (smart belt), รองเท้าอัจฉริยะ (smart shoes)
ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ smart glasses ถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาถ่าย ใช้ smart ring ทำธุรกรรมทางการเงินหรือแตะเข้ารถไฟฟ้าแทนบัตรต่าง ๆ ได้ ใช้ smart neck pendant บันทึกเสียงการประชุมพร้อมสรุปใจความสำคัญได้เสมือนเลขานุการส่วนตัว
โดยหากเจาะมาที่กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ จะเห็นได้ว่าหลายประเทศทั่วโลกพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่ติด AI อย่างหลากหลาย เช่น ชุดชั้นในช่วยตรวจหามะเร็งเต้านม อุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ส่งข้อมูลไปจัดเก็บและคำนวณได้แบบเรียลไทม์ เสื้อวัดปฏิกิริยาทางไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ แหวนติดตามอัตราการฟื้นตัวของผู้ป่วยจากอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนในเลือด
ตัวอย่างอุปกรณ์สวมใส่ติด AI ของประเทศไทย เช่น ‘อุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัลไซเมอร์’ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ‘นาฬิกาอัจฉริยะช่วยป้องกันเด็กหาย’ โดยบริษัทโพโมะ เฮาส์ จำกัด, ‘แอปพลิเคชันวัดระดับการทำงานของสมอง’ โดย Lumos Labs, ‘เซนเซอร์เฝ้าระวังผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยล้ม’ โดย สวทช.