หน้าแรก สวทช. ผนึกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ระดมความเห็น พัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2 , CE, SDG เพื่อการค้าและความยั่งยืน
สวทช. ผนึกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ระดมความเห็น พัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2 , CE, SDG เพื่อการค้าและความยั่งยืน
14 มิ.ย. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุม CC 402 ชั้น 4 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดประชุมระดมความคิดเห็น “การขับเคลื่อนการดำเนินงาน BCG Implementation เรื่อง การพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2, CE, SDG เพื่อการค้าและความยั่งยืน” โดยมี รศ. ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมอภิปรายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2 , CE, SDG เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยสนับสนุนหมุดหมายที่ 10”

รศ. ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน BCG Implementation และงานวิจัยที่สนับสนุนตัวชี้วัดหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนา
ที่ยั่งยืนและการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศ สนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องและเป็นคลังข้อมูลกลางของประเทศที่ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ รวมถึงสนับสนุนการสร้างเครือข่ายพันธมิตร (Consortium) ด้านการพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานและงานวิจัยสนับสนุนการลดการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายของประเทศ
นางสาวนุชจรี วงษ์สันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศไว้ 13 หมุดหมาย โดยหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ มีตัวชี้วัดและเป้าหมายที่ต้องผลักดันเพิ่มเติม เช่น มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้น สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ในปี 2570 การบริโภควัสดุ
ในประเทศมีปริมาณลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ในปี 2570 และดัชนีการหมุนเวียนวัสดุ (Material Circularity Index: MCI) สำหรับผลิตภัณฑ์เป้าหมาย (พลาสติก, วัสดุก่อสร้าง, เกษตร-อาหาร) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปี 2570 จึงเล็งเห็นว่า สวทช. เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะมีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนหมุดหมายดังกล่าว
ด้าน รศ. ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนแห่งเอเชียแปซิฟิก และอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวถึงความเป็นมาและการดำเนินงานเกี่ยวกับฐานข้อมูลวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ (National LCA Database) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และ เครือข่ายด้าน Thai LCA และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยมองว่าความร่วมมือเป็นเครือข่ายระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ โดยใช้ วทน. พัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2 , CE และ SDG อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการค้าของประเทศในอนาคต
ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) สวทช. กล่าวว่า TIIS ภายใต้เอ็มเทค สวทช. เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต หรือ LCA ของประเทศ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนแผนงาน “การพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2 , CE, SDG เพื่อการค้าและความยั่งยืน” ของ สวทช. โดย TIIS ได้ดำเนินการจัดทำ “ฐานข้อมูลวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ” ที่รวบรวมข้อมูลบัญชีรายการ ที่ครอบคลุมข้อมูลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของวัสดุพื้นฐานพลังงาน และผลิตภัณฑ์หลักสำคัญของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ด้วยความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ เอ็มเทค สวทช., กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบัน TIIS
มีฐานข้อมูลวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ ครอบคลุมอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมพื้นฐานที่สำคัญกว่า 500 ฐานข้อมูล และได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และจัดทำนโยบายหรือแผนงาน ของภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจอย่างแพร่หลาย รวมถึงบูรณาการฐานข้อมูลในการพัฒนาตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อติดตามการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ
ที่ประชุมได้ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเห็นพ้องถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนแผนงาน “การพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2 , CE, SDG เพื่อการค้าและความยั่งยืน” เพื่อสนับสนุน
หมุดหมายที่ 10 แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการรับมือกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการค้า และเห็นพ้องให้ เอ็มเทค สวทช. และ สอวช. ช่วยประสานงานต่อเนื่อง ให้เกิดความร่วมมือในลักษณะของการเป็นเครือข่ายพันธมิตรต่อไป
14 มิ.ย. 2567
0
แชร์หน้านี้: