18 มกราคม 2561 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมืองแห่งนักพัฒนา (Makers Nation) เริ่มยกแรกด้วยการยกระดับ “NETPIE”แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things (IoT) Platform ที่วิจัยพัฒนาและให้บริการโดย เนคเทค-สวทช. มากว่าสองปี สู่การให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
โดย เนคเทค-สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัท Startup นำไปพัฒนาต่อยอดและให้บริการในเชิงพาณิชย์ รองรับอุตสาหกรรมทางด้าน IoT ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ IoT ของตนเองได้ ตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และภายในปี 2561 จะผลักดันให้นักเรียนมัธยมทั่วประเทศได้มีอุปกรณ์ IoT ที่ชื่อ KidBright โดยจัดหาอุปกรณ์ให้กับโรงเรียนที่มีชุมนุมวิทยาศาสตร์จำนวน 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดกำลังขับเคลื่อนเป็น Maker Movement ในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ ที่จะต่อยอดให้เยาวชนสนใจในด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต เชื่อมั่นกระทรวงวิทย์ฯ สามารถดันให้เกิดนักพัฒนาและอุตสาหกรรมด้าน IoT ของประเทศไทยได้
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โลกปัจจุบันแข่งขันกันด้วยเรื่องของผลิตภาพการผลิต และเรื่องนวัตกรรม ประเทศไทยกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Innovation-Driven Economy เพื่อทำให้เกิดสมดุลระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ประเทศไทยได้เร่งนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปขับเคลื่อนสังคม ทำให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าไปสู่จุดนั้นได้ ทรัพยากรบุคคลที่เป็นนักพัฒนาหรือที่เราเรียกกันว่า Maker จะต้องมีเพิ่มขึ้น และแพลตฟอร์ม IoT จำต้องมีการให้บริการอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพเช่นกัน
“วันนี้กระทรวงวิทย์ฯ โดย เนคเทค-สวทช. ได้อนุญาตสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Licensing) ของเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม IoT NETPIE ให้กับบริษัท เน็กซ์พาย จำกัด ซึ่งทีมงานของบริษัทฯ ส่วนหนึ่งเป็นทีมนักวิจัยของ เนคเทค-สวทช. ที่ได้วิจัยพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT NETPIE ขึ้นมา และลาออกไปร่วมทุนกับบริษัทเอกชนจัดตั้งบริษัท Startup เพื่อนำเทคโนโลยี NETPIE ไปพัฒนาต่อยอดและให้บริการในเชิงพาณิชย์ อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม IoT ถึงการให้บริการอย่างมืออาชีพ และการมีโมเดลธุรกิจรองรับทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถให้บริการได้อย่างยั่งยืน และในส่วนของการให้บริการแพลตฟอร์ม NETPIE เพื่อสาธารณประโยชน์”
“สำหรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา นักพัฒนา นักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการรายย่อย นั้น ทาง เนคเทค-สวทช. ยังคงเปิดให้บริการฟรีดังเดิม และขณะนี้กระทรวงวิทย์ฯ ได้ของบประมาณเพื่อเริ่มโครงการ Coding at School ซึ่งจะมอบชุดอุปกรณ์ KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดวงจรสำหรับการหัดเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมอุปกรณ์ IoT โดยใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนหรือเว็บเบราว์เซอร์ให้กับโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศจำนวน 1,000 โรงเรียนที่มีชุมนุมวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดกำลังขับเคลื่อนเป็น Maker Movement ในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ ที่จะต่อยอดให้เยาวชนสนใจในด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต โดยโครงการนี้จะเริ่มส่งมอบบอร์ด KidBright ให้กับโรงเรียนภายในปี 2561 นี้ เชื่อมั่นกระทรวงวิทย์ฯ สามารถดันให้เกิดนักพัฒนาและอุตสาหกรรมด้าน IoT ของประเทศไทยได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
ด้าน นายวัลล์ชัย เวชชีวะดำรงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เน็กซ์พาย จำกัด (NEXPIE) กล่าวว่า “บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างทีมนักวิจัยที่แยกตัวออกมาจาก เนคเทค-สวทช. กับบริษัท แมนดาลา คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT ศูนย์บริการข้อมูลอินเทอร์เน็ต และบริการคลาาวด์ในมาตรฐานสากล บริษัท เน็กซ์พาย ได้รับสิทธิ์อนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม NETPIE เพื่อพัฒนาต่อยอดและให้บริการในเชิงพาณิชย์ ในปีแรกเน็กซ์พายจะเร่งสร้างและพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT จากเทคโนโลยี NETPIE เดิม เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าธุรกิจ ซึ่งการร่วมมือกันระหว่าง สวทช. และเน็กซ์พาย จะช่วยให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไทยก้าวไปอีกขั้น ทั้งภาคการศึกษา อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และกลุ่มธุรกิจจะได้ใกล้ชิดกับเทคโนโลยี IoT ที่เป็นของคนไทยมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ภาคเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง”