หน้าแรก ITAP สวทช.ภาคเหนือ หนุน เชียงใหม่ไบโอเวกกี้นำวิทย์เสริมแกร่ง แปรรูปผักด้วยนวัตกรรม
ITAP สวทช.ภาคเหนือ หนุน เชียงใหม่ไบโอเวกกี้นำวิทย์เสริมแกร่ง แปรรูปผักด้วยนวัตกรรม
8 ก.พ. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

Iสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานเครือข่ายภาคเหนือ ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในโครงการวิจัยและพัฒนาแก่ บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด

ผู้ผลิตผักผลไม้อบแห้ง เพื่อร่วมศึกษากระบวนการผลิตและวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น พร้อมแปรรูปผักด้วยนวัตกรรม ขยายโอกาสทางการตลาด และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่รักสุขภาพ

นายเกษคง พรทวีวัฒน์ ผู้บริหาร บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด คือ ผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2554 จากการรวมตัวของเกษตรกร นักวิทยาศาสตร์การอาหาร วิศวกร และนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเล็งเห็นว่า คนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับสารอาหารจากธรรมชาติและผักไม่เพียงพอ อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรในประเทศไทยมีมากจนเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด จนเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัทเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสนับสนุนให้คนไทยได้ทานผักมากขึ้นโดยบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย สะดวก และมาจากธรรมชาติ 100%

  

โดยบริษัทฯ ได้คัดสรรวัตถุดิบจากโครงการหลวงมาใช้ในการผลิต ผ่านกระบวนการแปรรูปให้แห้งโดยเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านการคิดค้นและพัฒนาเครื่องจักรโดยทีมผู้บริหารของบริษัท ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวที่สามารถรักษาคุณค่าสารอาหารไว้ได้มากที่สุด ควบคุมการผลิตตามมาตรฐาน GMP (การผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์ที่ดี) และมาตรฐาน HACCP (การรับรองระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร) โดยความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและมูลนิธิโครงการหลวงในการช่วยกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผักผลไม้ที่มีมากเกินความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการช่วยเกษตรกรชาวเขาอีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ มีความต้องการที่จะต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่รักสุขภาพ ตลอดจนต้องการให้บริษัทฯ ได้รับการรับรองระบบตามหลักมาตรฐานสากล จึงเป็นที่มาของโจทย์วิจัยจากบริษัทฯ สู่ โปรแกรม ITAP สวทช. ด้วยการสรรหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการแปรรูปผักด้วยนวัตกรรม เกิดเป็นสินค้านวัตกรรมของบริษัทฯ ประกอบด้วย ผักอัดเม็ดไบโอเวกกี้ และเครื่องดื่มสมุนไพรไบโอเวกกี้เพื่อสุขภาพ

ด้าน นางปิยะฉัตร ใคร้วานิช เบอร์ทัน ผู้อำนวยการฝ่าย สวทช.ภาคเหนือ กล่าวว่า สวทช. โดยโปรแกรม ITAP สำนักงานเครือข่ายภาคเหนือ ได้สรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME แต่ละราย มาช่วยทำโครงการวิจัยและพัฒนาให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม โดยในรายของบริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ในด้านผลิตภัณฑ์พืชผักอบแห้ง ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน จาก 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Veggie Energy & Nutrition Bar และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Fruit Veggie Gummy Vit.C Plus โดยผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งโครงการแรกเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Veggie Energy Bar โดยใช้ผักอบแห้งเป็นวัตถุดิบ ทางโปรแกรม ITAP ได้ให้ความช่วยเหลือในการวิจัยและพัฒนาจนได้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ Veggie Energy & Nutrition ที่เป็นแหล่งของพลังงาน มีใยอาหารสูง และเสริมคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ ขณะที่โครงการถัดมา เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Fruit Veggie Gummy Plus Vit.C โดยใช้ผักอบแห้งเป็นวัตถุดิบ ทางโปรแกรม ITAP ได้ให้ความช่วยเหลือในการวิจัยและพัฒนาจนได้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ Fruit Veggie Gummy Plus Vit.C ที่มีความสะดวกในการบริโภค ใช้น้ำผลไม้และผักผงเป็นส่วนประกอบ และเป็นแหล่งของไวตามินซี ซึ่งทั้งสองโครงการนับเป็นการต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่รักสุขภาพ

  

และอีก 2 โครงการ คือ โครงการจัดทำระบบ GMP/HACCP โดยผู้เชี่ยวชาญ นางปานจรีย์ สอนประจักษ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทางโปรแกรม ITAP ได้ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบการผลิตให้ได้ตามหลัก GMP/HACCP เพื่อมีระบบควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพความปลอดภัย ตามหลักมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ สามารถขยายโอกาสและช่องทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น และโครงการที่ 4 คือ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปให้พลังงานต่ำ ที่อุดมด้วยสารสำคัญจากผักสามสีอบแห้ง โดยผู้เชี่ยวชาญ ดร.สุวัชชัย จรัสโสภณ ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมนาโนเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ทางโปรแกรม ITAP ได้ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างความแตกต่างและสามารถเพิ่มมูลค่าในการใช้พืชผักอบแห้งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารควบคุมน้ำหนัก ทำให้ทราบชนิดของสารสำคัญที่พบพร้อมปริมาณในตัวอย่างผัก 7 ชนิด คือ บีทรูทหรือกะหล่ำม่วง มะเขือเทศเชอร์รี่ แครอทหรือฟักทอง ผักโขม และเซเลอรี่ รวมถึงได้สูตรอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมบริโภค จำนวน 1 สูตร ซึ่งมีส่วนประกอบจากผักอบแห้งสามสี

8 ก.พ. 2561
0
แชร์หน้านี้: