หน้าแรก สวทช. ร่วมกับ สถานทูตอังกฤษ และ BBSRC จัดเวทีประชุมความร่วมมือวิจัยและพัฒนาข้าวภายใต้กองทุนนิวตัน
สวทช. ร่วมกับ สถานทูตอังกฤษ และ BBSRC จัดเวทีประชุมความร่วมมือวิจัยและพัฒนาข้าวภายใต้กองทุนนิวตัน
18 ม.ค. 2562
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

18 มกราคม 2562 กรุงเทพฯ : พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติร่วมงาน Dissemination Workshop for Newton Rice Initiative หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปความร่วมมือวิจัยและพัฒนาข้าวภายใต้กองทุนนิวตัน พร้อมมอบรางวัลโปสเตอร์งานวิจัยดีเด่นแก่นักวิจัยจำนวน 3 ท่าน จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และ UK Biotechnology and Biological Sciences Research Council (BBSRC) ระหว่างวันที่ 16 – 18 มกราคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

เพื่อเป็นเวทีประชุมหารือในกลุ่มนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยหัวข้อด้านข้าว ภายใต้โครงการ Newton Fund และเปิดโอกาสให้หน่วยงานให้ทุนวิจัยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการร่วมทุนวิจัย การบริหารจัดการโครงการ และการติดตามประเมินผลโครงการ โดยมีนักวิจัยที่ได้รับทุนและหน่วยงานให้ทุนวิจัยจาก 5 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย กว่า 100 คน เข้าร่วมงาน

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การวิจัยเรื่องข้าว เป็นหนึ่งในหัวข้อการวิจัยที่สำคัญ ที่รัฐบาลได้มุ่งสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทย ยังมีประโยชน์ในระดับนานาชาติด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ต้านทานต่อโรคและแมลง ทนทาน และเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนมีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภค อาทิ ข้าวพันธุ์ กข 41 และพันธุ์ กข 47 ที่ทนต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ข้าวพันธุ์ กข 61

 

ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และระบบชลประทานไม่สมบูรณ์ ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาความก้าวหน้าโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีด้านชีวโมเลกุล เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ให้สั้นลงได้ โดยได้ลักษณะพันธุ์ข้าวที่มีคุณลักษณะที่ดีได้ง่ายขึ้น ไม่เพียงแต่การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โรค หรือแมลงศัตรูข้าวที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เท่านั้น

 

ยังจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การแปรรูป และการพัฒนาพันธุ์ที่มีคุณภาพดีตามความต้องการของผู้บริโภค และมีศักยภาพในการแข่งขันด้วย ซึ่งประเทศไทยได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง ที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในตลาดโลกและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวพันธุ์สินเหล็ก ข้าวพันธุ์ปิ่นเกษตร และข้าวพันธุ์ กข 43 “ผมขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศทุกท่าน สถานเอกอัครราชทูต สหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และ Newton Fund สหราชอาณาจักร ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่สนับสนุนโครงการวิจัยและเข้าร่วมการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าในครั้งนี้ รัฐบาลไทยพร้อมที่จะสนับสนุน และให้ความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยด้านต่างๆ ร่วมกับ Newton Fund ตลอดจนหน่วยงานวิจัยต่างๆ กับสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและเกิดการพัฒนาด้านการวิจัยที่ยั่งยืนร่วมกันในทุกๆ ประเทศ”

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือการวิจัยข้าวระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรครั้งนี้ เป็นการร่วมกันศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงด้านจีโนม ด้านฟีโนมิกซ์ และชีวสารสนเทศศาสตร์ โครงการวิจัยทั้งสามโครงการที่ได้รับการคัดเลือกมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาให้ได้องค์ความรู้พื้นฐานที่จะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำหรือทนแล้งของข้าว เช่น การศึกษาลักษณะราก จำนวนและลักษณะของปากใบ เป็นต้น โดยองค์ความรู้พื้นฐานที่ได้จะนำมาค้นหายีนที่ควบคุมลักษณะดังกล่าว และพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลมาใช้ในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนแล้งในระยะต่อไป รวมทั้งการพัฒนาโมเดลการระบาดวิทยาของเชื้อสาเหตุโรคเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีการปรับปรุงโดยการรวมยีนต้านทานหรือการใช้ยีนเดี่ยวได้อย่างยั่งยืนในการควบคุมโรคขอบใบแห้ง

 

ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาข้าวของประเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการผลิตข้าวให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตและคุณภาพที่ดีในสภาวะแวดล้อมที่วิกฤติ ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งโดยตรงจากการส่งออกข้าว และโดยอ้อมจากการลดความสูญเสียของผลผลิต นอกจากนี้ การทำงานวิจัยร่วมกับต่างประเทศจะทำให้นักวิจัยไทยเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทัดเทียมในระดับนานาชาติได้”

   

ทั้งนี้ ภายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปความร่วมมือวิจัยและพัฒนาข้าวภายใต้กองทุนนิวตัน มีการมอบรางวัล Best Scientific Poster หรือรางวัลโปสเตอร์งานวิจัยดีเด่น แก่นักวิจัยจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ Mr. Eric Belfield, University of Oxford สหราชอาณาจักร จากโครงการที่ได้รับทุนคือ โครงการ Super-Rice: a UK-China Collaboration to Improve Rice Nitrogen Use Efficiency (NUE) (UK-China) Mr. Tran Dang Khanh, Agricultural Genetics Institute ประเทศเวียดนาม จากโครงการที่ได้รับทุนคือ โครงการ Exploiting a Cyanobacterial CO2 Concentrating Mechanism to Increase Photosynthesis and Yield in Rice (UK- China) และ น.ส.พัณณ์ชิตา เวชสาร กรมการข้าว ประเทศไทย จากโครงการที่ได้รับทุน คือ โครงการ Rhizo-Rice: a novel ideotype for deeper roots and improved drought tolerance (UK-Thailand)

18 ม.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: