กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทัพหน่วยงานในสังกัด อาทิ สวทช. วว. สสน. หน่วยให้ทุน บพท. และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จับมือกับ กระทรวงมหาดไทยและภาคี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร ดำเนินงานมุ่งเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อน “โปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ได้ร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ZOOM MEETING เพื่อมอบนโยบายและแนวคิดการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ นำเสนอโครงการเร่งด่วน หรือ Quick Win project ต่อผู้บริหารจังหวัดและมหาวิทยาลัยในพื้นที่จากทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายชัยวัฒน์ แสงศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร และนายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ โดยการประชุมออนไลน์ในแต่ละจังหวัดมีหัวหน้าส่วนราชการ , ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และจากภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมรับทราบนโยบาย
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบนโยบายให้เร่งแก้จนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งเป้าการขับเคลื่อนงานให้สำเร็จภายใน 1 – 2 ปี เช่น เน้นการทำเกษตรปลอดภัย เกษตรประณีต เกษตรมูลค่าสูง เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การสร้างแบรนด์ (Branding) ของทุ่งกุลาเปลี่ยนจากความยากจนเป็นรุ่งเรือง สร้างสรรค์ ผลิตสินค้าแบรนด์ทุ่งกุลาให้คนในพื้นที่ทุ่งกุลามีความภูมิใจในการเป็นคนทุ่งกุลา สร้างผู้นำ BCG สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทรหด อดทน มุมานะ รู้จักรับและปรับใช้เทคโนโลยี สามารถพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ที่มีรายได้น้อย อย่างน้อยร้อยละ 50 ในพื้นที่ให้มีรายได้ก้าวพ้นเส้นความยากจน (มากกว่า 38,000 บาทต่อคนต่อปี) และยกระดับเกษตรกรต้นแบบอย่างน้อยร้อยละ 10 ของเกษตรกรในพื้นที่ และด้านประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพมาตรฐาน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 ตามแนวทางการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการใช้ฐานทรัพยากรที่โดดเด่นและหลากหลาย และยังเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ ยกระดับให้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารไทยที่มีคุณภาพครบวงจร เน้นการทำเกษตรพรีเมียม เกษตรมูลค่าสูง การผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดของเสียในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด หรือเป็น zero waste และสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้กลไกตลาดนำการผลิต เน้นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ผสานศิลปะวัฒนธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่น และนวัตกรรม สร้างแบรนด์ทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ 5 จังหวัดได้กำหนดคนจนพื้นที่เป้าหมายใน 7 อำเภอ 26 ตำบล และเกษตรกรต้นแบบใน 10 อำเภอ 39 ตำบล นำร่องโครงการเร่งด่วน (Quick win project) เพื่อการยกระดับสินค้าหลักในพื้นที่ อาทิ ข้าว พืชหลังนา โคเนื้อ ประมง ผักอินทรีย์ พืชสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมูลค่าเพิ่ม โดยคาดหวังผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่การยกระดับรายได้ เกิดอาชีพ การจ้างงานตลอดห่วงโซ่การผลิตในพื้นที่ ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ เกิดแบรนด์สินค้าพรีเมียมไปสู่ตลาดสากล เกิดเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงตลาด เกิดผู้ประกอบการใหม่ในพื้นที่ เกิดตลาดกลางในพื้นที่เชื่อมโยงกับตลาดสากล นอกจากนั้นแล้วที่ประชุมได้รายงานให้ทราบถึงการจัดตั้งคณะทำงานในระดับพื้นที่ คือ คณะทำงานขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 5 จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำเป้าหมายและแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนในแต่ละจังหวัด ให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมาย ในระดับนโยบาย และการผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องของกิจกรรมต่างๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป