(30 พฤษภาคม 2567) ณ โถงนิทรรศการ ชั้น 1 อาคารสราญวิทย์ สวทช. อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี –คณะผู้เข้าอบรมโครงการนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับกลาง รุ่นที่ 110 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยด้านการเกษตร ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ทีมนักวิจัย สวทช. ร่วมต้อนรับและนำเสนอผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
กลไกการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสู่ชุมชน โดย คุณกัลยารัตน์ รัตนะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
การวิจัยพัฒนาวัคซีนโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (African swine fever : ASF)โดย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.)
รักษ์น้ำ เทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับควบคุมการให้น้ำในแปลงเกษตร โดย คุณธีรพัชส ประสานสรกิจ นักวิชาการอาวุโส สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
Magik Growth เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร โดย ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัย จากทีมวิจัยสิ่งทอกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค สวทช.)
นอกจากนี้คณะฯ ได้เยี่ยมชมผลงานวิจัยทางด้านการเกษตรจากศูนย์วิจัยแห่งชาติ โดยมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจ ดังนี้
- ระบบฟาร์มรักษ์น้ำ: เทคโนโลยีการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกษตรกรประหยัดน้ำ ทรัพยากร และลดต้นทุนการผลิต
- Magik Growth: นวัตกรรมถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวน
- ปุ๋ยคีเลต: ปุ๋ยสูตรพิเศษที่ช่วยให้พืชดูดซึมธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตและคุณภาพของพืชผลทางการเกษตร
- Agri-Map: เครื่องมือดิจิทัลที่ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตรได้สะดวก รวดเร็ว และตรงความต้องการ
- Linebot ข้าว และ สตรอว์เบอร์รี: แชตบอตสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคสตรอว์เบอร์รีผ่านภาพถ่าย เพื่อให้คำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
- วัคซีน ASF: วัคซีนป้องกันโรค ASF ในสุกร ช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด
- DAPBot (แดปบอท): แพลตฟอร์มสนับสนุนการจำแนกศัตรูพืชและการเข้าถึงชีวภัณฑ์เกษตร ในรูปแบบ Line Official
การเยี่ยมชมครั้งนี้ มุ่งหวังส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง สวทช. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรในอนาคตต่อไป