“ยางพารา” ไม่เพียงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผลต่อวิถีชีวิตของคนใต้เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันหล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรเกือบทั้งประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพารามากถึง 64 จังหวัด เกี่ยวข้องกับชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน ทว่าที่ผ่านมา ภาคการผลิตยางพาราทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ยังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง สัดส่วนการใช้ยางในประเทศยังมีน้อย ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก และแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก แต่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้น ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงนัก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และหน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าวิจัยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการผลิตยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เร่งสร้างนวัตกรรมส่งเสริมภาคการผลิตยางพารา ครอบคลุมตั้งแต่การรักษาสภาพน้ำยางไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้แก่ประเทศ
อุตสาหกรรมยางต้นน้ำ ช่วยเกษตรกรลดใช้สารเคมีผลิตน้ำยางสด
การผลิตยางต้นน้ำ เอ็มเทค สวทช. มุ่งช่วยเกษตรกรลดการใช้สารเคมีในการผลิตน้ำยางสด โดยที่ผ่านมาน้ำยางสดที่กรีดจากต้นยางมีอายุการเก็บก่อนนำไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพียง 4-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นน้ำยางสดจะเริ่มเสื่อมสภาพ หรือที่เรียกว่า “ยางบูด” เกษตรกรผู้ผลิตน้ำยางสดจึงมักเติมแอมโมเนียหรือโซเดียมซัลไฟต์ (ยากันกรอก) เพื่อยืดอายุน้ำยางสด แต่ปัญหาที่พบคือ แอมโมเนียมีกลิ่นฉุน ระเหยง่าย และเป็นพิษต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม ขณะที่เมื่อใช้โซเดียมซัลไฟต์ มักจะทำให้เกิดฟองอากาศในยางแผ่น กลายเป็นยางแผ่นคุณภาพต่ำ ขายไม่ได้ราคา
ทีมนักวิจัยน้ำยางและวัสดุยาง กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค สวทช. พัฒนาเทคโนโลยี “สารบีเทพ (BeThEPS)” ซึ่งสามารถใช้ทดแทนแอมโมเนีย มีประสิทธิภาพยืดอายุน้ำยางสดได้นาน 1-3 วัน ช่วยเกษตรกรลดความถี่ในการส่งน้ำยาง ลดต้นทุน น้ำยางสดที่ได้มีคุณภาพดี ทำให้แผ่นยางจับตัวรีดง่าย เกิดลายดอกชัดเจน เพิ่มปริมาณยางแผ่นรมควันคุณภาพดี ลดปริมาณยางตกเกรด ที่สำคัญคือไม่มีกลิ่นฉุน ปลอดภัยต่อสุขภาพเกษตรกรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) รวมถึงแนวคิด Sustainable Natural Rubber Initiatives (SNR-i) ที่อาจเป็นข้อกีดกันทางการค้าในอนาคต ปัจจุบันมีการนำสารบีเทพไปใช้ในสวนยางพาราแล้วมากกว่า 3,700 ไร่
อุตสาหกรรมกลางน้ำ ช่วยผู้ประกอบการลดสูญเสียเนื้อยางผลิตน้ำยางข้น
อุตสาหกรรมกลางน้ำ เอ็มเทค สวทช. ช่วยผู้ประกอบการไทยลดการสูญเสียเนื้อยางในการผลิตน้ำยางข้นให้เป็นศูนย์ หรือ Zero Rubber Waste ด้วย “นวัตกรรม Grass” ช่วยดึงเนื้อยางจากของเหลือทิ้งให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ และทำให้มีรายได้เพิ่ม ประกอบด้วย Grass 0 ใช้ทดแทนกรดซัลฟิวริก สามารถรวบรวมเนื้อยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ขึ้นกับอายุของน้ำยาง แหล่งที่มาของน้ำยาง และปริมาณแอมโมเนียที่อยู่ในน้ำยาง และยังช่วยให้น้ำทิ้งมีสภาพเป็นกลาง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถัดมาคือ Grass 1 สารจับตัวน้ำยางสกิมประสิทธิภาพสูง สามารถรวบรวมน้ำยางสกิมได้มากกว่าร้อยละ 90 โดยน้ำหนัก ใช้ได้ทั้งน้ำยางสกิมใหม่และน้ำยางสกิมที่ได้จากน้ำยางสดเก่าเก็บ ทำให้ผลิตยางสกิมคุณภาพสูงได้มากขึ้น นอกจากนี้น้ำทิ้งไม่เป็นกรด และไม่มีซัลเฟตปนเปื้อน
สำหรับ Grass 2 เป็นสารจับตัวน้ำล้างเครื่องปั่นน้ำยางประสิทธิภาพสูง จับตัวน้ำล้างเครื่องปั่นน้ำยางได้อย่างสมบูรณ์และรวดเร็ว ทำให้ได้เนื้อยางคุณภาพดี และสุดท้าย Grass 3 เทคโนโลยีการแยกเนื้อยางออกจากตะกอนน้ำยางหรือขี้แป้ง เพื่อนำยางกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งสามารถแยกสารอนินทรีย์เพื่อใช้ทำปุ๋ยหรือเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเซรามิก ปัจจุบันมีบริษัทรับถ่ายทอดเทคโนโลยี Grass แล้ว 5 บริษัท สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มากกว่า 5,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาน้ำยางข้นเกรดพิเศษ เช่น นวัตกรรมพาราฟิต (ParaFit) น้ำยางพาราข้นแอมโมเนียต่ำสำหรับการผลิตหมอนและที่นอนยางพารา และการพัฒนาสูตรน้ำยางข้นแอมโมเนียต่ำมาก สำหรับผลิตภัณฑ์แอสฟัลต์ซีเมนต์เพื่อทำถนน ซึ่งนำไปใช้ทำถนนลาดยางแล้วระยะทาง 4,610 กิโลเมตร ใน 73 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 4,000 ล้านบาท
อุตสาหกรรมปลายน้ำช่วยผู้ประกอบการพัฒนาสูตรยางคอมพาวด์
อุตสาหกรรมปลายน้ำ เอ็มเทค สวทช. ช่วยผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ คิดค้นพัฒนา “สูตรยางคอมพาวด์” สำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งนี้มีผู้ขอใช้บริการแล้วมากกว่า 50 บริษัท ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น ทีมนักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนา ยางล้อตันประหยัดพลังงาน ซึ่งมีความทนทาน ประหยัดพลังงานมากถึง 60% ยางล้อตันมีอายุการใช้งานของดอกยางสูงกว่ายางล้อตันแบบเดิมประมาณ 2 เท่า ใช้พลังงานในการขับเคลื่อนน้อยลง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนยางและค่าเชื้อเพลิงในการใช้งานรถฟอร์กลิฟต์ได้ถึง 60,000 บาทต่อคันต่อปี
ที่สำคัญยังมีงานวิจัยที่เตรียมพร้อมส่งมอบอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีผลิตยางก้อนถ้วยไร้กลิ่นเหม็น ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อการเล่นและการเรียนรู้ รวมถึงถุงมือยางโปรตีนต่ำมากเพื่อลดอาการแพ้ นวัตกรรมที่เป็นความหวังเพิ่มมูลค่าการส่งออกถุงมือยางของประเทศไทย เพราะปัจจุบันแม้จะส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ยังมีมูลค่าในการส่งออกน้อยกว่ามาเลเซียมาก
ขณะเดียวกันยังมีงานวิจัยยางพาราร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น เอ็มเทค ร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต พัฒนา “หุ่นฝึกช่วยชีวิตจากยางพารา” ชุดอุปกรณ์แสดงข้อมูลขณะฝึกและเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติแบบสาธิต (AED Training) และยังได้ร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา จัดทำ “เอกสารการผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพดี” เผยแพร่ให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
เอ็มเทค สวทช. ยังเร่งผลักดันการพัฒนา “มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง” โดยจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในระดับประเทศแล้ว 31 ฉบับ และระดับสากล ISO 2 ฉบับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ยกระดับผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก เช่น การกำหนดมาตรฐานยางล้อตันสำหรับรถฟอร์กลิฟต์ มอก. 2668-2558 การกำหนดมาตรฐาน ISO เส้นด้ายยาง (ISO 20058:2017 General purpose rubber thread – Specification, ISO 2321:2017 Rubber thread – Methods of test) ซึ่งประเทศไทยส่งออกเส้นด้ายยางเป็นอันดับ 1 ของโลก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จของการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านยางพารา ที่เอ็มเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ได้มุ่งมั่นดำเนินการมากว่า 30 ปี เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรไทย ตอบโจทย์เป้าหมายยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี และการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ที่มุ่งให้คนไทยอยู่ดีกินดี บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน