หน้าแรก เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม เพิ่มความยั่งยืน แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !
เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม เพิ่มความยั่งยืน แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !
6 มี.ค. 2567
0
BCG
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

 

“แทนที่จะปล่อยนาร้างให้ว่างเปล่า เราเอาถั่วเขียว KUML ไปปลูก ช่วยปรับสภาพดินได้ พอดินดี ผลผลิตก็เยอะ ปีที่แล้วนาผม 1 ไร่ เกี่ยวข้าวได้ 500-600 กิโลกรัม เดิมได้แค่ 200-300 กิโลกรัม เมล็ดข้าวก็อ้วนขึ้น แถมถั่วเขียวที่ได้คุณภาพดี มีเอกชนรับซื้อถึงแปลง” คำบอกเล่าของ นายประมวล ขันธ์เพชร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง จ.อำนาจเจริญ แหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ขึ้นชื่อแห่งแดนอีสานที่การันตีว่า ถั่วเขียว KUML ช่วยปรุงดินทำให้ข้าวงอกงาม เพิ่มผลผลิต และมีรายได้เสริม

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง ต.โพนเมืองน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ คือกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์มากว่า 20 ปี เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 และดำเนินการจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจในปี 2548 เริ่มต้นมีสมาชิกเป็นเกษตรกรชุมชนบ้านโนนค้อทุ่งแค่ 10 คน ที่รวมใจกันปฏิเสธการใช้สารเคมี หันมาปลูกข้าววิถีอินทรีย์อย่างจริงจัง จนได้การรับรองมาตรฐาน International Federation of Organic Agriculture Movements (IFOAM), มาตรฐานข้าวอินทรีย์ของสหภาพยุโรป (EU) และมาตรฐานระบบอินทรีย์แคนาดา หรือ Canada Organic Regime (COR) ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มมากกว่า 40 ราย และด้วยความเข้มแข็งของกลุ่ม ประกอบกับใจของเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นและรักความก้าวหน้า ทำให้พวกเขาสามารถขยายตลาด ผันตัวจากผู้ปลูกสู่ผู้ค้า ยกระดับเป็นเจ้าของกิจการที่ส่งข้าวอินทรีย์ขายให้ร้านอาหารชั้นนำทั่วประเทศ

ล่าสุดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่งรับ ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML’ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาปลูกเป็น พืชหลังนาปุ๋ยพืชสดชั้นดีที่ช่วยให้ผลผลิตข้าวอินทรีย์ของกลุ่มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ! ที่สำคัญยังได้รับการยกระดับเป็น ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML อินทรีย์ระดับชุมชน’ โดยกลุ่มสามารถเป็นนวัตกรในการให้ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้แก่ผู้ที่สนใจได้

 

ถั่วเขียว KUML เมล็ดใหญ่ สุกแก่พร้อมกัน ต้านทานโรค

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. สนับสนุนทุนวิจัยให้ ศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ และ รศ. ดร.ประกิจ สมท่า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยและพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียวจนได้สายพันธุ์ KUML#1-5 และ 8 ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ เมล็ดขนาดใหญ่ ทนแล้ง สุกแก่เร็ว ให้ผลผลิตได้สูงถึง 300 กิโลกรัมต่อไร่ ที่สำคัญต้านทานโรคราแป้งและใบจุดได้ดี จากนั้นสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเขียว KUML เป็นพืชหลังนาด้วยกลไกตลาดนำการผลิต ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อขยายผลการผลิตถั่วเขียว KUML ให้แก่เกษตรกร

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

“พืชตระกูลถั่วเป็นพืชที่มีความสำคัญ เพราะเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน และช่วยตัดวงจรชีวิตโรคและแมลงศัตรูพืชในพื้นที่นาข้าว เพราะถั่วเขียวเป็นพืชใบกว้าง ข้าวเป็นพืชใบแคบ มีศัตรูพืชคนละชนิดกัน เมื่อปลูกถั่วเขียวสลับกับปลูกข้าว ศัตรูข้าวจะค่อย ๆ หมดไป แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรยังไม่ค่อยนิยมปลูกถั่วเขียว สาเหตุเพราะ 1.ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี ทุกวันนี้ประเทศไทยต้องนำเข้าถั่วเขียว เพราะการผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภค ส่วนใหญ่เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์จากตลาดมาปลูก เกิดปัญหามีพันธุ์ปน ให้ผลผลิตน้อย เมล็ดเล็ก และไม่ต้านทานโรค 2. เกษตรกรขาดความรู้ในการปลูกถั่วเขียว คิดว่าหว่านแล้วไม่ต้องดูแล ผลผลิตที่ได้จึงน้อย 3. เก็บเกี่ยวยาก เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวในท้องตลาดปลูกแล้วสุกแก่ไม่พร้อมกัน เปลืองแรงงานในการจ้างเก็บหลายรอบ และ 4. ปลูกแล้วไม่รู้จะขายใคร

“สวทช. ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ เร่งวิจัยพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียว KUML และเดินหน้าขยายผลส่งเสริมการปลูกให้แก่เกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาอย่างครบวงจร โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการทั้งการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวคุณภาพดีไว้ใช้เอง ลดปัญหาพันธุ์ปนและปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพ (SEED) และให้ความรู้เทคนิคการปลูกถั่วเขียวที่ให้ผลผลิตสูง ฝึกลงมือปฏิบัติจริงในแปลง พร้อมดูแลให้คำปรึกษาติดตามอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือโครงการยังใช้กลไก ตลาดนำการผลิต ดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน บริษัทกิตติทัต จำกัด และบริษัทข้าวดินดี จำกัด รับซื้อผลผลิตถั่วเขียวอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกร”

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

ถั่วเขียว KUML’ ปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน เพิ่มผลผลิตข้าวเท่าตัว

นายประมวล ขันธ์เพชร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง จ.อำนาจเจริญ เล่าว่า ที่ผ่านมากลุ่มมีการปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นพืชหลังนา แต่พันธุ์ถั่วเขียวที่ใช้ปลูกไม่ค่อยดี เมล็ดเล็ก บางปีปลูกแทบไม่ได้ผลผลิต ก็จะไถกลบไปเลย ถั่วเขียวที่ปลูกส่วนใหญ่มีปัญหาสุกแก่ไม่พร้อมกัน ทำให้เก็บเกี่ยวยาก โดยมากเกษตรกรจะหันไปปลูกปอเทืองหรือพืชชนิดอื่นแทน

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

“สวทช. นำเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML มาส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชหลังนา เราสนใจเพราะจะได้เป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน แทนที่เราจะปล่อยนาให้ว่างเปล่า เราปลูกถั่วเขียว KUML พบว่าดินดีขึ้น และช่วยให้ผลผลิตข้าวอินทรีย์ดีขึ้นมาก อย่างนาผม 1 ไร่ เกี่ยวข้าวได้ถึง 500-600 กิโลกรัม เดิมเกี่ยวได้แค่ 200-300 กิโลกรัม ที่สำคัญแทบไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไรเพิ่มในนาข้าวเลย ช่วยลดต้นทุน และอาจารย์ที่ ม.เกษตรฯ ยังลองนำเมล็ดข้าวที่ปลูกได้ไปตรวจ พบว่าเมล็ดข้าวที่ได้มีลักษณะอ้วนขึ้นด้วย

เราปลูกข้าวอินทรีย์ปีละครั้ง ปลูกถั่วเขียวปีละครั้ง พอทำนาเสร็จก็ไถกลบตอซัง แล้วก็ปลูกถั่วเขียว พอเอารถไปเกี่ยว บางเมล็ดก็หล่นลงดิน ถั่วเขียวก็ขึ้นมาใหม่ ถ้าช่วงนั้นน้ำยังไม่มา ฝนยังไม่ตก เราก็เก็บผลผลิตได้อีกรอบ ถ้าต้นโตออกดอกหรือว่าฝนมา เราก็ไถกลบลงไปเลย ช่วยเพิ่มปุ๋ยเกิดประโยชน์กับเราอีก มีแต่ได้กับได้”

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

อบรมความรู้ปลูกถั่วเขียว ผลผลิตสูง มีรายได้เสริม

นายอดุลย์ โคลนพันธ์ เกษตรกรแกนนำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง จ.อำนาจเจริญ เล่าว่า เดิมปลูกถั่วเขียว รู้แค่ว่าหว่านเมล็ดลงแปลง แล้วก็รอเก็บผลผลิต แต่ไม่มีความรู้เรื่องการปลูกถั่วเขียวที่ถูกต้อง ไม่รู้ว่าต้องคัดพันธุ์อย่างไร ต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นถั่วเขียวที่ดี ไม่มีถั่วหินปน จนกระทั่ง สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาช่วยอบรมให้ความรู้ว่าปลูกถั่วเขียวต้องทำอย่างไร ถ้าความชื้นไม่พอต้องให้น้ำ หรือว่าช่วงไหนที่โรคแมลงมาลงก็ให้เอาชีวภัณฑ์เข้าไปช่วย และยังมีการติดตามเก็บข้อมูลให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

“ที่ผ่านมามีภาครัฐมาสนับสนุนพันธุ์ถั่วเขียวให้ปลูกบ้าง แต่เราไม่มีความรู้ในการปลูก แต่ สวทช. และ ม.เกษตรฯ เข้ามาส่งเสริมการผลิตถั่วเขียว KUML แบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยว ทำให้ปลูกถั่วเขียวได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว เดิมปลูกถั่วเขียวพันธุ์ทั่วไปเหลือขายเล็กน้อย มีรายได้เฉลี่ยต่อไร่เพียง 1,500 บาท พอปลูกถั่วเขียว KUML มีรายได้เฉลี่ย 3,000 บาทต่อไร่”

“แต่ก่อนปลูกถั่วพร้าได้แค่ปุ๋ย ขายไม่ได้” นายประมวล กล่าวเสริมและเล่าว่า แทนที่จะเอาเงินขายข้าวไปซื้อปุ๋ยมาลงนาเพิ่ม ก็ปลูกถั่วเขียว KUML แทน ได้ทั้งปุ๋ยพืชสดบำรุงดินและยังขายได้ด้วย บริษัทข้าวดินดี จำกัด รอรับซื้ออยู่แล้ว ทำให้มีรายได้เสริมระหว่างพักนา บางคนปลูกเยอะก็มีรายได้เพิ่ม 10,000-20,000 บาท ปีนี้ผมปลูกถั่วเขียว KUML เยอะกว่าทุกปี ปีที่แล้วปลูก 4-5 ไร่ แต่ปีนี้ปลูก 10 กว่าไร่ ข้อดีของถั่วเขียวคือเป็นพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อย เพราะว่าที่นี่ไม่มีชลประทาน วันไหนกลางคืนลมไม่มี น้ำค้างลงเยอะ ถั่วจะได้กินเยอะ อย่างปีนี้น้ำค้างเยอะ เพราะลมหนาวน้อย ถั่วเขียวจะเจริญเติบโตดี คิดว่าปีนี้น่าจะได้ผลผลิตถั่วเพิ่มมากขึ้น”

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

ยกระดับเกษตรกรผู้ปลูก สู่ ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์’  

การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ว่าถั่วเขียวหรือข้าว หัวใจสำคัญคือ เมล็ดพันธุ์ เพราะต้องมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ดที่หว่านลงแปลงนั้นต้อง ไม่มีการคลุกสารเคมี

นางสาวณิฎฐา คุ้มโต นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สท. สวทช. กล่าวว่า นอกจากอบรมความรู้เรื่องการปลูกถั่วเขียวแล้ว สวทช. ยังส่งเสริมเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง เพราะว่าถั่วเขียว KUML เป็นพันธุ์ผสมเปิด (open pollinated variety หรือ OP) คือเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้หากมีการเก็บถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่งเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเมล็ดพันธุ์มาก ต้องมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์ต้องไม่คลุกสารเคมี และมีผู้ตรวจมารับรอง

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

“จุดเด่นของโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเขียว KUML สวทช. คือ เรามุ่งเน้นพัฒนาเกษตรกรให้มีทักษะการผลิตเมล็ดพันธุ์ และผลักดันให้มีการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เราจะไม่แจกเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ให้ฟรี แต่ปลูกฝังกลไกที่เรียกว่า การยืม-คืน โดยเริ่มต้น สวทช. สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KUML ให้แก่เกษตรกร จากนั้นกลุ่มเกษตรกรจะนำไปแจกจ่ายโดยใช้วิธียืม-คืน เช่น ยืมไป 5 กิโลกรัม สำหรับหว่าน 1 ไร่ แต่เวลาคืนต้องคืน 8 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นเมล็ดพันธุ์จะไม่สูญหาย และยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นสำหรับใช้หมุนเวียนในกลุ่มด้วย”

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง จ.อำนาจเจริญ ไม่ได้แค่นำกลไกการยืน-คืนเมล็ดพันธุ์ไปใช้ภายในกลุ่ม แต่พวกเขายังทำ แปลงเมล็ดพันธุ์ส่วนกลาง เพื่อเป็น ธนาคารเมล็ดพันธุ์ ของกลุ่มด้วย

นายอดุลย์ เล่าว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวไว้ปลูกเอง มีการจัดทำแปลงกลางของกลุ่มสำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ มีเครื่องมือตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ มีการถอนพันธุ์ปน สมาชิกคนไหนไม่มีเมล็ดพันธุ์ก็มายืมไปใช้ได้ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วต้องเก็บเมล็ดพันธุ์มาคืน ซึ่งจะทำให้กลุ่มมีเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวไว้ใช้ ช่วยลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ในการปลูกฤดูกาลถัดไป ทำให้เกิดความยั่งยืน

“นอกจากการผลิตเมล็ดพันธุ์แล้ว กลุ่มของเรายังมีกระบวนการจัดเก็บเมล็ดถั่วเขียวที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องจักร ตะแกรงร่อน มีเครื่องอบ เพราะการเก็บเมล็ดถั่วเขียว ความชื้นจะต้องต่ำที่สุด ไม่เช่นนั้นมอดจะขึ้น ในช่วงแรกเราใช้วิธีนำเมล็ดถั่วเขียวมาตากแดดให้แห้ง ซึ่งยังได้ผล เพราะปริมาณถั่วเขียวมีน้อย แต่พอระยะหลังที่ปลูกในปริมาณมาก การตากแดดเริ่มไม่ได้ผลเท่าที่ควร ช่วงแรกเสียหายเยอะมาก เก็บได้ 1 เดือน มอดขึ้น ยังไม่ทันได้ส่งโรงงาน ปีนี้จึงมีการพัฒนาเครื่องมือ มีการวัดความชื้น เพื่อให้เก็บรักษาได้นานและได้มาตรฐาน”

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง จ.อำนาจเจริญ พัฒนาเป็น ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML อินทรีย์ระดับชุมชน ปลูกและส่งขายถั่วเขียว KUML ให้แก่บริษัทข้าวดินดี จำกัด ซึ่ง สวทช. ได้ใช้กลไกตลาดนำการผลิต ประสานงานภาคเอกชนรับซื้อผลผลิตถั่วเขียวจากเกษตรกร ในราคากิโลกรัมละ 40 บาท เพื่อไปผลิตและแปรรูปเป็นพาสตาออร์แกนิกส่งขายทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถขายเมล็ดถั่วเขียวให้แก่ผู้บริโภคภายใต้บริษัทบ้านต้นข้าว จำกัด ของกลุ่มในราคากิโลกรัมละ 80 บาท

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

 

นายประมวล เล่าว่า คนทำเกษตรอินทรีย์ต้องใจรักจริง ๆ อย่างกลุ่มเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีอะไรเลย ก่อตั้งกลุ่มมาคือรวมตัวกัน 10-20 คน เวลาเกิดปัญหาอะไรก็ร่วมกันทำเป็นกลุ่ม ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร มีรายได้เพิ่ม ตอนนี้มีพื้นที่ 5-6 ไร่ มีเครื่องจักร มีทรัพย์สินเป็นของกลุ่ม มีเงินออมอยู่ประมาณ 10 ล้านบาท แล้วก็เป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน เพราะว่าทุกคนมีใจรัก แต่ก่อนนี้ทำไร่ทำนาเสร็จ ก็ต้องลงไปหางานที่กรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ครอบครัวอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องทิ้งบ้านไปไหนแล้ว

“กลุ่มเราทำเกษตรอินทรีย์มา 20 ปี เราพยายามปรับเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นคนที่ลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง อย่ามัวแต่รอให้คนอื่นมาช่วย เพราะว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน คนอื่นก็ช่วยเหลือเรายาก”

 

เกษตรกรอำนาจเจริญ ปลูกถั่วเขียว KUML ช่วยบำรุงดิน มีรายได้เสริม แถมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มเท่าตัว !

BCG Economy Model

ทีมวิทยากรให้ความรู้และติดตามให้คำปรึกษาถั่วเขียว KUML

  1. รศ. ดร.ประกิจ สมท่า ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  2. ผศ. ดร.กนกวรรณ เที่ยงธรรม ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  3. นางสาวณิฎฐา คุ้มโต นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  4. นายชนะชัย แสนทวีสุข ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

เรียบเรียงโดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์

อาร์ตเวิร์คโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่

แชร์หน้านี้: