หน้าแรก ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม
ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม
18 มี.ค. 2567
0
BCG
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

 

ทุ่งกุลาร้องไห้ คือทุ่งราบกว้างใหญ่ที่เคยถูกขนานนามถึงความแห้งแล้งและทุรกันดาร ยากแก่การประกอบอาชีพหรือทำการเกษตร แต่ทุกวันนี้ชาวทุ่งกุลาฯ ไม่เพียงไม่ร้องไห้ แต่กำลัง ยิ้มได้ เพราะนอกจากผืนดินที่เคยแตกระแหงจะกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีระดับโลกแล้ว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อสร้างอาชีพหลังการทำนา ทั้งการปลูกพืชสมุนไพร ถั่วเขียว รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผ้าทอ ภายใต้กลไกตลาดนำการผลิต เชื่อมโยงผลผลิตกับเอกชน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริม เพิ่มคุณภาพชีวิต ไม่ต้องทิ้งถิ่นเข้าเมืองเพื่อหางานทำ

 

ปลูก ขิงไพลฟ้าทะลายโจร ดันพืชสมุนไพรรุกตลาดใหม่แดนอีสาน

ประเทศไทยมีแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาพืชสมุนไพรไทย และยังเตรียมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางสมุนไพรโลก สวทช. ขานรับนโยบายจัดทำโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการขยายพันธุ์พืชและยกระดับการผลิตสมุนไพรคุณภาพดีของเกษตรกรพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ นำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม เริ่มต้นส่งเสริมการปลูกขิง-ไพล-ฟ้าทะลายโจร เนื่องจากเป็นชนิดพืชที่ สวทช. ดำเนินการวิจัยพัฒนาพันธุ์ และมีศักยภาพสูงเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะบริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทเอกชนที่ สวทช. เชื่อมโยงผ่านกลไกตลาดนำการผลิต พร้อมรับซื้อผลผลิตเพื่อผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม

โดยในปี 2566 สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. ได้ดำเนินงานใน 3 ส่วน ได้แก่ 1. การผลิตขิงปลอดโรคด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระบบไบโอรีแอกเตอร์ จำนวน 60,000 ต้น อยู่ระหว่างการอนุบาลที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ 15,000 ต้น และศูนย์ขยายพันธุ์พืชมหาสารคาม 45,000 ต้น ตั้งเป้าส่งมอบให้เกษตรกรปลูกในปี 2568 2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรคุณภาพดีให้ได้มาตรฐาน (GAP) และ 3. การสร้างจุดเรียนรู้การผลิตสมุนไพรคุณภาพดีเชื่อมโยงกับหน่วยงานในพื้นที่ ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรคุณภาพดี จำนวน 337 คน และมีเกษตรกรแกนนำปลูกขิงจำนวน 28 คน พื้นที่รวม 10 ไร่

 

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

 

นางสุปราณี ยาทะเล สมาชิกกลุ่มปลูกสมุนไพรแปลงใหญ่ ต.ปราสาท อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันปลูกสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร อัญชัน ขมิ้น ไพล ส่งโรงพยาบาลห้วยทับทัน เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรและยาแผนโบราณ กระทั่งเมื่อปี 2566 สวทช. เข้ามาส่งเสริมการปลูกขิงพันธุ์ราชบุรี ซึ่งยังไม่เคยปลูกมาก่อน แต่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้ามาช่วยอบรมให้ความรู้วิธีการปลูกและการดูแลที่เหมาะสม รวมทั้งยังคอยติดตามให้คำแนะนำแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

“ปีที่ผ่านมาทดลองปลูกขิง 2 งาน ได้ผลผลิตรวม 300 กิโลกรัม แต่ด้วยเพิ่งทดลองปลูกเป็นปีแรกทำให้มีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ร้อนจัด เนื่องจากขิงชอบอยู่ในพื้นที่ร่ม มีแดดส่องรำไร เราพยายามนำฟางไปกลบ และปลูกต้นกล้วยรอบ ๆ เพื่อสร้างร่มเงา ทำให้ขิงเติบโตได้ดี หัวมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ในการปลูกจะฉีดพ่นแต่น้ำหมักชีวภาพที่ทำขึ้นเอง เพื่อให้ได้ขิงอินทรีย์ที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย ตอนเก็บผลผลิต พบว่าขิงมีหัวขนาดใหญ่มาก เห็นแล้วชื่นใจ ซึ่งผลผลิตที่ได้ทางบริษัทโอสถสภาฯ จะรับซื้อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ดีใจว่าปลูกแล้วมีตลาดพร้อมรองรับ ทำให้มีกำลังใจในการปลูกปีต่อ ๆ ไป และช่วยให้เรามีรายได้เสริมเพิ่มเติมหลังจากการทำนา”

 

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

 

ปั้น ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว KMUL’ พืชหลังนาสร้างรายได้

ถั่วเขียว เป็นอีกกลุ่มพืชหลังนาที่เกษตรกรทุ่งกุลาฯ ให้ความสนใจ เพราะเป็นพืชใช้น้ำน้อย แต่ที่ผ่านมาการปลูกถั่วเขียวยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ทำให้มีพันธุ์ปนจำนวนมาก อีกทั้งถั่วเขียวทั่วไปในท้องตลาด สุกแก่ไม่พร้อมกัน ทำให้ต้องเก็บเกี่ยวหลายรอบ ต้นทุนสูง

 

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

 

นายไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า สวทช. เข้ามาส่งเสริมการปลูกถั่วเขียวพันธุ์ KUML เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาขึ้น ให้ผลผลิตคุณภาพดี เมล็ดโต สุกแก่พร้อมกัน ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย ลดต้นทุน และได้ผลผลิตต่อไร่เยอะกว่าถั่วเขียวสายพันธุ์เดิมถึงเท่าตัว จากเคยปลูกถั่วเขียวสายพันธุ์ทั่วไปได้ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ตอนนี้ปลูกถั่วเขียว KUML ให้ผลผลิตเพิ่มถึง 200 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเป็นถั่วเขียวทั่วไปราคาขาย 22-25 บาทต่อกิโลกรัม แต่ของกลุ่มฯ เป็นถั่วเขียวอินทรีย์ ขายได้กิโลกรัมละ 45 บาท

“กลุ่มผักไหมนำถั่วเขียว KUML มาปลูกหลายฤดูกาลแล้ว ได้ผลผลิตแตกต่างชัดเจนเลย ทำให้มีรายได้เพิ่ม อย่างรายได้เฉพาะถั่วเขียวอย่างเดียว ปกติถั่วเขียวทั่วไปขายกิโลกรัมละ 25 บาท ผลผลิตเราเฉลี่ยอยู่ที่ 200 กิโลกรัมต่อไร่ จะขายได้ประมาณ 5,000 บาท ต้นทุนปลูกถั่วเขียว 1 ไร่ ประมาณ 1,800 บาท ก็มีรายได้เพิ่มประมาณ 3,000 บาทต่อไร่ แต่ถ้าเราทำถั่วเขียวอินทรีย์จะขายได้ราคาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่ก่อนพื้นที่นาแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ทำนาเสร็จก็ปล่อยทิ้งร้างไว้ 7-8 เดือน รอทำนาฤดูกาลหน้า ตอนนี้ปลูกถั่วเขียว พอเก็บเกี่ยวผลผลิตขายแล้วก็ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ทำให้ดินดี ส่งผลดีต่อการปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไป และช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้เยอะมาก เพราะว่าถั่วช่วยตรึงไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารสำคัญให้แก่ดิน ไม่ต้องใช้ปุ๋ยยูเรีย ข้าวก็เขียว ออกรวงงาม มีแต่ผลดี ไม่มีผลเสียเลย”

 

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

 

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม หันมาปลูกถั่วเขียว KUML ในพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 300 ไร่ และยังได้รับการประสานงานจากหน่วยงานภาครัฐให้เป็นแกนนำในการขยายผลการปลูกถั่วเขียว KUML ให้แก่เกษตรกรประมาณ 2,500 คน ใน 22 อำเภอ ล่าสุดยังได้รับการยกระดับเป็น ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียว KUML ระดับชุมชนพร้อมตั้งเป้าเป็นแหล่งผลิตถั่วเขียว KUML คุณภาพดีของประเทศ

นายไพฑูรย์ เล่าว่า ข้อดีของถั่วเขียว KUML คือสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ปลูกต่อได้ ซื้อเมล็ดพันธุ์แค่ปีแรก จากนั้นก็ผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เองได้ตลอด ตอนนี้ทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับแจกจ่ายในกลุ่มฯ และขยายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรรายอื่นที่สนใจ ทำให้นอกจากมีเมล็ดพันธุ์ดีไว้ใช้เองแล้ว ยังขายเมล็ดพันธุ์ได้ด้วย ซึ่งได้ราคาดีกว่า เพราะถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวอินทรีย์ขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท การปลูกเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว (seed) ต่างจากการปลูกเมล็ดถั่วเขียว (grain) สำหรับบริโภค คือถ้าเป็นเมล็ดถั่วเขียวทั่วไปจะไม่ได้ดูแลใส่ใจมากนัก แต่ถ้าเป็นแปลงเมล็ดพันธุ์ต้องหมั่นตรวจคัดพันธุ์ปน และพอเก็บเกี่ยวถั่วเสร็จแล้วต้องส่งตัวอย่างเมล็ดพันธุ์เพื่อตรวจรับรองมาตรฐานแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์

“แต่ก่อนทุ่งกุลาร้องไห้พอเข้าหน้าแล้งแทบเป็นหมู่บ้านร้างเลย คนวัยแรงงานจะอพยพเข้าเมืองไปทำงานก่อสร้าง รับจ้างตัดอ้อย เหลือแค่เด็กกับผู้สูงอายุ พอมีหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาหนุนเสริมเราแบบนี้ ทำให้เรามีอาชีพเสริมหลังการทำนา พอมีรายได้ ไม่ต้องทิ้งบ้านไปไหน ได้อยู่กับครอบครัว มีความสุขตามสภาพในชนบท ลูกก็ไม่ว้าเหว่ ไม่ไปเกเรเหมือนสมัยก่อน เพราะว่าอย่างน้อยมีพ่อแม่อยู่”

 

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

 

ปรับ ผ้าทอย้อมมะเกลือให้ติดสีสวยด้วยนวัตกรรม ENZease

ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เรื่องข้าวหอมมะลิ แต่ยังโดดเด่นเรื่องของผ้าทอที่มีความวิจิตรงดงามและมีลวดลายการทอผ้าที่แตกต่างหลากหลายตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน กลุ่มเสื้อเย็บมือผ้าไหมลายลูกแก้ว ย้อมมะเกลืออบสมุนไพรบ้านเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ คือแหล่งผลิตผ้าไหมลายลูกแก้ว ซึ่งโดดเด่นด้วยผ้าทอย้อมสีดำธรรมชาติจาก มะเกลือ แต่กว่าผ้าจะมีสีดำสนิทต้องใช้เวลามากกว่า 2 เดือน สวทช. โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้เข้ามาส่งเสริมเพิ่มมูลค่าผ้าทอด้วยนวัตกรรม เอนไซม์เอนอีซ (ENZease)’ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย้อมสีธรรมชาติให้ติดสีดีขึ้น

 

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

 

นางฉลวย ชูศรีสัตยา ประธานศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาหม่อนไหมผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง จังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า หลังการทำนา แม่บ้านจะรวมตัวกันทอผ้าย้อมมะเกลือ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน แต่กว่าจะได้ผ้าทอแต่ละผืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและใช้เวลานาน เพราะกว่าจะย้อมผ้าไหมจนได้สีดำสนิท ต้องจุ่มผ้าไหมกับน้ำมะเกลือแล้วนำไปตากแดด ทำแบบนี้สลับวนไปถึง 300 จุ่ม 60 แดด หรือประมาณ 2-3 เดือน

“สวทช. เข้ามาส่งเสริมการใช้ ‘เอนไซม์เอนอีซ’ นับว่าโชคดีที่เราได้นวัตกรรมมาเสริมกับภูมิปัญญา เราใช้เอนไซม์เอนอีซทำความสะอาดผ้าไหมก่อนการย้อม ช่วยให้การย้อมติดสีไวดีขึ้น จากเดิมย้อมผ้าไหมด้วยมะเกลือต้องตาก 60 แดด ก็เหลือแค่ 30 แดด หรือประมาณ 1 เดือน ช่วยลดระยะเวลา ลดขั้นตอน ที่สำคัญผ้าที่ได้ยังติดสีสม่ำเสมอ สีผ้ามีความเข้ม สวยเงางาม และมีความนุ่ม เพิ่มโอกาสในการขายผ้าทอได้มากขึ้น”

 

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

ชาวทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้ เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรม

 

การทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนในการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และกลไกการตลาดเข้าไปต่อยอดสร้างอาชีพเกษตรกรบนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ให้มั่นคง จะช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวทุ่งกุลาฯ เปลี่ยนน้ำตาเป็นความม่วนชื่นอย่างยั่งยืน

 

หน่วยงานความร่วมมือ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ
บริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน)
บริษัทกุยลิ้มฮึ้ง จำกัด (Supplier ของบริษัทโอสถสภา)
สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ
สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม
สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด
สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ
สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม
โรงพยาบาลห้วยทับทัน
โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ

 

BCG Economy Model

 


เรียบเรียงโดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์

อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่

แชร์หน้านี้: