For English-version news, please visit : New bee species discovered at Phu Chong Na Yoi National Park
นักวิจัย มรภ.อุบลฯ ค้นพบผึ้งสองชนิดใหม่ของโลก คือ “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” และ “ผึ้งบุษราคัมภูจอง” ระหว่างการสำรวจอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้โครงการวิจัย “ท่องเที่ยวเมืองรอง อุบลราชธานี เที่ยวได้ทั้งปี : ท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม และสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน” ตามยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า ทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วมกับทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการผึ้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินโครงการวิจัยฯ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน วัฒนธรรม และนำไปสู่การค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลกทั้ง 2 ชนิด
“ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (Phujong resin bee) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Anthidiellum (Ranthidiellum) phujongensis n. sp. เป็นผึ้งเฉพาะถิ่นในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย เป็นกลุ่มผึ้งหายากที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้านี้เพียง 4 ชนิดในโลกเท่านั้น และค้นพบเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบครั้งนี้มีรายงานข้อมูลลักษณะของเพศผู้และเพศเมีย รวมถึงข้อมูลทางชีววิทยาของรังที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด โดยลักษณะที่โดดเด่นคือ ทำรังบริเวณหน้าผาดิน เก็บยางไม้บริสุทธิ์มาสร้างปากทางเข้ารัง เมื่อโดนแสงอาทิตย์สะท้อนแสงประกายจะมีสีเหลืองสวยงาม เป็นลักษณะเฉพาะที่มีความงดงามอย่างยิ่ง จนเป็นที่มาของชื่อ “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” เป็นการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติสถานที่ที่พบและลักษณะเด่นเฉพาะที่งดงามของตัวผึ้ง
ส่วนผึ้งบุษราคัมภูจอง (Topaz cuckoo bee) เป็นผึ้งปรสิตชนิดใหม่ของโลก พบในรังของผึ้งหยาดอำพันภูจอง ผึ้งชนิดนี้จะแอบวางไข่ในรังของผึ้งหยาดอำพันและแย่งอาหารของลูกผึ้งหยาดอำพันกิน ปัจจุบันยังค้นพบเฉพาะในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยในประเทศไทยเท่านั้น ผึ้งชนิดนี้ได้รับเกียรติตั้งชื่อโดย คุณรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมอาวุโส ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สวทช. โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stelis flavofuscinular n. sp. จากลักษณะพิเศษที่มีสีเหลืองเข้ม สลับลายดำบริเวณลำตัว ทำให้นึกถึงความสวยงามของบุษราคัม และเป็นเรื่องราวของผึ้งที่นำไปต่อยอดสร้างงานหัตศิลป์นำเสนอผ่านผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน”
ดร.ประพันธ์ กล่าวว่า ผึ้งสองชนิดนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะผู้ผสมเกสรที่สำคัญ สร้างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของพรรณไม้ในป่า และการค้นพบผึ้งหายากทั้งสองชนิดนี้แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ควรค่าแก่การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์ ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ประสานความร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยดำเนินการเพิ่มพื้นที่การสร้างหน้าผาดินธรรมชาติบริเวณใกล้กับลำห้วย เพื่อเพิ่มโอกาสและสถานที่ในการสร้างรังและขยายพันธุ์ของผึ้งกลุ่มนี้
“นอกจากนี้ยังจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวของผึ้ง ทั้งความสำคัญ ความงดงาม รวมถึงข้อมูลทางชีววิทยาที่ช่วยให้ประชาชนได้ตระหนัก และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ใช้ผึ้งเป็นแรงบันดาลใจสร้างมูลค่าผ่านงานศิลปะ ทำเป็นของฝาก ของที่ระลึก ซึ่งจะสร้างให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน”
นางรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมอาวุโส ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สวทช. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็น 1 ใน 7 มหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวทช. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวมีส่วนร่วมกับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและสร้างความสุขในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และเป้าหมายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่เป็นวาระแห่งชาติ
“สวทช. โดยฝ่ายสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ได้สนับสนุนการวิจัยให้กับคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ภายใต้โครงการวิจัย “ท่องเที่ยวเมืองรอง อุบลราชธานี เที่ยวได้ทั้งปี: ท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม และสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน” เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน วัฒนธรรม แหล่งศาสนสถานต่างๆ ในแง่ของการอนุรักษ์บนซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า ‘นวนุรักษ์’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ชุมชนหรือหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลได้ด้วยตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ให้ข้อมูลวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่นคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
นางรังสิมา กล่าวต่อว่า สำหรับการค้นพบผึ้งสองชนิดใหม่ของโลก “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” และ “ผึ้งบุษราคัมภูจอง” ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ Zookeys เรียบร้อยแล้ว และรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลผึ้งในประเทศไทยที่ สวทช. สนับสนุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดทำ นอกจากนี้ชุมชนยังได้นำลักษณะเฉพาะของผึ้งหยาดอำพันภูจองและผึ้งบุษราคัมภูจอง ไปสร้างงานศิลปะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ผ้าทอมือ เครื่องจักสาน เสื่อกก ตามความถนัดของชุมชน นับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG model อีกทางหนึ่ง ประกอบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้มีแรงงานย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯ รวมถึงคนรุ่นใหม่ หรือบัณฑิตจบใหม่ที่มีความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีย้ายคืนสู่ถิ่นฐานภูมิลำเนาของตน ในพื้นที่หมู่บ้านใกล้กับอุทยานฯ ทำให้แรงงานคืนถิ่นเหล่านี้มีโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพในถิ่นฐานของตนเองอีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการสร้างอาชีพและเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ชุมชน