ประเทศไทยผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูปมากเป็นอันดับต้นของโลก โดยในปี 2564 กรมการค้าต่างประเทศรายงานว่าประเทศไทยส่งออกมันสำปะหลังแปรรูปเป็นมูลค่ารวมสูงกว่า 1.23 แสนล้านบาท แต่ทว่าหลังจากช่วงปี 2562 ที่ไทยเริ่มพบรอยโรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava Mosaic Disease: CMD) และประกาศการระบาดอย่างเป็นทางการในปี 2565 อุตสาหกรรมมันสำปะหลังกลับต้องเผชิญกับความสั่นคลอนจากการขาดแคลนวัตถุดิบเรื่อยมา เพราะโรค CMD นอกจากจะทำให้หัวมันแคระแกร็นและคุณภาพผลผลิตตกต่ำแล้ว ยังเป็นโรคที่แพร่ระบาดได้ง่าย รวดเร็ว แต่ยับยั้งการแพร่ระบาดยากเพราะมีแมลงหวี่ขาวเป็นตัวกระจายโรค พื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่ของไทยจึงกลายไปเป็นพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ที่ต้องเผชิญปัญหาโรค CMD ระบาดภายในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี
อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤตใหญ่ที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ยังมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกมันสำปะหลังที่เลือกยืนหยัดหาแนวทางฝ่าฟันวิกฤตนี้ เพราะพวกเขาเชื่อว่า ‘การสู้ไปด้วยกันจะนำไปสู่การผ่านพ้นวิกฤตได้’
ปัญหาเกิด ‘ตัวกลางเร่งขยับ’
ชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าว่า นับตั้งแต่เริ่มพบโรค CMD ในประเทศไทยเมื่อปี 2562 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสของ สท. ณ ขณะนั้น ได้มอบแนวทางให้บุคลากร สท. สร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ และผสานการนำเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคที่นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. พัฒนาไว้มาช่วยรับมือกับปัญหานี้ทันที ในปีนั้น สท. จึงได้ร่วมกับไบโอเทคจัดการประชุมเพื่อสร้างความตระหนักถึงโรคนี้ให้ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดย สท. ได้เชิญนักวิชาการด้านการเกษตรจากหน่วยงานต่าง ๆ มาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคใบด่างมันสำปะหลัง ส่วนนักวิจัยไบโอเทคได้นำเสนอเทคโนโลยีรับมือกับการระบาดของโรคทั้งในส่วนเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรคและอุปกรณ์ตรวจโรค
“ผลจากการประชุมครั้งนั้นก่อให้เกิดความร่วมมือครั้งใหญ่กับภาคเอกชน คือ กลุ่มพูลผล โดยบริษัทพูลอุดม จำกัด กลุ่มธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหลายรูปแบบ ในการนำร่องสร้างกระบวนการรับมือโรค CMD อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยผู้บริหารของบริษัทมีวิสัยทัศน์ว่าโรค CMD ไม่น่าใช่ปัญหาเล็ก และมีแนวโน้มจะลุกลามไปเป็นวิกฤตการณ์โรคระบาดใหญ่ได้ในไม่ช้า ซึ่งผลจากการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ ของบริษัท ทำให้ขณะนี้บริษัทมีเทคโนโลยี ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้ สำหรับสร้างระบบการผลิตขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และใช้ประคับประคองเกษตรกรพันธมิตรของบริษัทกว่า 2,000 ครัวเรือน ไม่ให้ล้มพับในวันที่พื้นที่เพาะปลูกหลายแสนไร่ทั่วประเทศกลายเป็นพื้นที่สีแดงอย่างทุกวันนี้ได้”
หลังจากบริษัทพูลอุดมฯ รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากไบโอเทคในปี 2563 บทบาทของนักวิชาการจาก สท. ได้ขยับปรับเปลี่ยนจากการเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงเพื่อสร้างความตระหนัก มาเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่จะช่วยยับยั้งการระบาดของโรค CMD เพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ปลอดโรคเอาไว้ให้ได้นานที่สุด จนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมาช่วยพลิกสถานการณ์นี้
ชวินทร์ เล่าว่า ตั้งแต่วันแรกที่บริษัทพูลอุดมฯ และนักวิจัยจากไบโอเทค สวทช. ตัดสินใจดำเนินงานร่วมกัน นักวิชาการจาก สท. ยังคงทำหน้าที่ช่วยประสานการดำเนินงานเสมอมา นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ที่ช่วยเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิจัย และเกษตรกรด้วย เพราะตระหนักดีว่าโรค CMD ไม่ใช่ปัญหาเล็กที่จะแก้ไขได้ด้วยใครเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องการกำลังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ดังนั้น สท. จะไม่หยุดหมุนเฟืองจนกว่าประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้
เทคโนโลยีรักษาพื้นที่สีเขียว ‘เอาน้ำดีไล่น้ำเสีย’
ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค สวทช. เล่าต่อในมุมไบโอเทคว่า เดิมทีก่อนจะพบการระบาดโรค CMD ในประเทศไทย นักวิจัยไบโอเทคนำโดย ดร.ธราธร ทีรฆฐิติ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมันสำปะหลังพันธุ์เศรษฐกิจของไทยไว้ก่อนแล้วด้วย 2 เหตุผลหลัก คือ การอนุรักษ์ต้นพันธุ์แท้ปลอดโรค และการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์วิกฤตที่อาจทำให้ขาดแคลนต้นพันธุ์ เช่น เกิดเหตุโรคระบาด เกิดภัยธรรมชาติ
“ในตอนนั้นช่วงปี 2563 หลังจากตัวแทนจากบริษัทพูลอุดมฯ แสดงความสนใจที่จะรับถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรค ดร.ธราธร และทีมได้ดำเนินการถ่ายทอดวิธีการผลิตต้นพันธุ์ด้วยกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทันที พร้อมช่วยดูแลการพัฒนาห้องปฏิบัติการภายในโรงงานของบริษัท และช่วยเป็นพี่เลี้ยงด้านการปรับปรุงกระบวนการอนุบาลและเพาะปลูก จนบริษัทสามารถผลิตและส่งต่อท่อนพันธุ์ให้เกษตรกรใช้ปลูกจริงได้แล้ว ซึ่งในตอนนั้นทีมวิจัยได้ช่วยผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรคเพื่อเป็นต้นแม่พันธุ์ให้บริษัทนำไปใช้ขยายพันธุ์ต่อ รวมแล้วมากกว่า 20,000 ต้น
“นอกจากเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์แล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างเทคโนโลยีสำคัญที่ไบโอเทคนำไปช่วยเหลือ คือ ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบ strip test เทคโนโลยีตรวจโรค CMD ที่ ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. และทีมพัฒนาขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรเข้าถึงอุปกรณ์การตรวจที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาจับต้องได้ ที่สำคัญวิธีการตรวจง่าย เกษตรกรตรวจได้ด้วยตัวเองภายในพื้นที่เพาะปลูก ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรตรวจโรคได้บ่อยครั้งขึ้นและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่พบในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที”
นอกจากการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการพัฒนาต้นพันธุ์ปลอดโรคเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวเอาไว้ให้ได้นานที่สุด นักวิจัยไบโอเทคยังมองไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีฐานเพื่อรองรับการล้างพื้นที่สีแดงแบบเอาน้ำดีไล่น้ำเสียในอนาคตด้วย
ดร.ยี่โถ เล่าว่า จนถึงปัจจุบันทีมวิจัยยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการแก้ปัญหาโรค CMD และการเติบโตของอุตสาหกรรมไทยมาอยู่ตลอด โดยทีมได้พัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมันสำปะหลังด้วยเทคนิคไบโอรีแอกเตอร์ (bioreactor) แบบกึ่งจมจนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะเทคโนโลยีนี้แม้จะต้องลงทุนสูงในช่วงเริ่มต้น แต่ด้วยความรวดเร็วในการขยายต้นพันธุ์ปลอดโรคจะทำให้ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานพันธมิตรที่มีห้องปฏิบัติการสามารถขยายต้นพันธุ์กลุ่มทนทานโรค CMD และต้านทานโรค CMD พันธุ์ต่าง ๆ (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2567 มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยสามารถพัฒนาพันธุ์ต้านทานโรค CMD ได้แล้ว 3 พันธุ์ อยู่ในช่วงวางแผนเตรียมการขยายพันธุ์) ในระดับหลักแสนหรือกระทั่งหลักล้านต้นได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งนั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนที่เราสามารถช่วยกันเอาน้ำดีไล่น้ำเสีย คืนพื้นที่ทั่วประเทศให้กลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวอีกครั้ง และทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนคืนทุนได้อย่างรวดเร็ว
“อีกหนึ่งเทคโนโลยีการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและไบโอเทคกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย คือ การพัฒนาระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในระบบ somatic embryogenesis หรือการโคลนนิง (cloning) พืชผ่านเซลล์แคลลัส ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการ genetic transformation หรือการส่งถ่ายยีนเข้าสู่เซลล์เพื่อปรับแต่งรหัสพันธุกรรมของพืช โดยในกรณีมันสำปะหลัง สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อพัฒนาพันธุ์ให้มีลักษณะตามวัตถุประสงค์การใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น ต้านทานโรค ต้นพันธุ์ให้แป้งสูง ต้นพันธุ์ที่เหมาะแก่การผลิตเอทานอล หรืออื่น ๆ เพื่อช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคตได้”
‘ความยั่งยืน’ โจทย์ที่เอกชนใส่ใจ
เพ็ญนภา บานเย็น ผู้จัดการโครงการวิจัยเกษตร บริษัทพูลอุดม จำกัด เล่าต่อในมุมภาคเอกชนว่า ตลอดการทำงานที่ผ่านมานโยบายของบริษัทที่ผู้บริหารวางเป็นแนวทางในการทำงานให้แก่พนักงานมาตลอดคือความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนในห่วงโซ่ผลลัพธ์ (impact value chain) เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง จากนโยบายนั้นทำให้ทันทีที่ผู้บริหารทราบข่าวการเข้ามาของโรค CMD ก็ตัดสินใจลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับช่วยประคับประคองทุกภาคส่วนในสายการผลิตของบริษัทให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันทันที
“นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ทีมวิจัยไบโอเทคได้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงบริษัทในด้านการพัฒนากระบวนการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ในโครงการกระจายพันธุ์ต้านทานโรคให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันบริษัทสามารถผลิตต้นพันธุ์สะอาดเฉลี่ย 15,000-20,000 ต้น/เดือน เพื่อจัดส่งให้เกษตรกรพาร์ตเนอร์ใช้ปลูกได้แล้ว นอกจากนี้บริษัทยังกำลังร่วมดำเนินการผลิตต้นพันธุ์ต้านทานโรคภายใต้โครงการกระจายพันธุ์ต้านทานโรคของบริษัทสยามควอลิตี้สตาร์ช จำกัด เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรในจังหวัดชัยภูมิใช้ปลูกเพื่อผลิตมันสำปะหลังคุณภาพหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมด้วย โดยบริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้มากกว่า 400,000 ต้น ทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณผู้ให้การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะทีมวิจัยไบโอเทคและนักวิชาการจาก สท. สวทช. ที่สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของบริษัทเสมอมา
“ภายหลังจากการช่วยเหลือเกษตรกรในบริเวณพื้นที่ตั้งของโรงงานประสบความสำเร็จแล้ว บริษัทยังมีแผนจะพัฒนากระบวนการผลิตต่อเพื่อผลิตท่อนพันธุ์ปลอดโรคได้มากขึ้น และกระจายไปยังเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ เพราะนอกจากบริษัทจะต้องพึ่งพิงผลผลิตจากพวกเขาแล้ว การที่เกษตรกรเหล่านั้นผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันกับบริษัทได้ ก็เป็นสัญญาณอันดีว่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยจะกลับมามั่นคงได้อีกครั้ง”
เกรียงศักดิ์ แจ้งเสถียรสุข ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าเกษตร บริษัทพูลอุดม จำกัด เสริมว่า ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรในบริเวณพื้นที่ตั้งของโรงงานทั้งในจังหวัดชัยภูมิและบุรีรัมย์ในรูปแบบพาร์ตเนอร์ที่ดูแลซึ่งกันและกันมาโดยตลอด โดยได้สนับสนุนต้นพันธุ์สะอาดทั้งพันธุ์ทนทานและพันธุ์ต้านทานให้แก่เกษตรกร มีทีมงานให้ความรู้ในการเรื่องการคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดีเหมาะกับสภาพดินและน้ำ รวมถึงช่วยแนะนำวิธีการปลูกและดูแลอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้นำเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองโรค CMD ในรูปแบบ strip test ที่ไบโอเทค สวทช. พัฒนาไปให้ความรู้ เพื่อช่วยเสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกรเครือข่ายด้วย ทุกคนต่างดำเนินงานตามค่านิยมของกลุ่มบริษัทฯ ที่ว่า ‘ซื่อสัตย์ โปร่งใส ใส่ใจในทุกปัญหา สร้างความเชื่อมั่นและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในที่นี้ครอบคลุมทั้งเกษตรกร สังคม และสิ่งแวดล้อม
คำบอกเล่าของทั้ง 4 คน อาจไม่ใช่เสียงที่สะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของวิกฤตโรค CMD ระบาดหนักในประเทศไทยได้ แต่คำบอกเล่าเหล่านี้จะช่วยฉายภาพให้เห็นว่าการที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตัดสินใจร่วมมือฝ่าฟันปัญหาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือหนทางที่นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้
ด้วยความระลึกถึง ดร.ธราธร ทีรฆฐิติ และ ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล ผู้อุทิศทั้งกำลังกายและใจช่วยเหลือประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตโรค CMD จนวาระสุดท้ายของชีวิต
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย สวทช. และบริษัทพูลอุดม จำกัด