For English-version news, please visit : Diagnostic technology offers solutions for combating cassava mosaic disease
“มันสำปะหลัง” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเพราะเป็นทั้งอาหารคน อาหารสัตว์ และเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งประเทศไทยยังครองอันดับหนึ่งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากที่สุดในโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต้องเผชิญวิกฤตโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดการระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้ผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อนำมาปลูกต่อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศในไม่ช้าหากไม่เร่งป้องกันและแก้ไข
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบด่าง และช่วยลดความเสี่ยงของการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ
‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ วิกฤตใหญ่ของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย
ดร.อรประไพ คชนันทน์ หัวหน้าทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่าโรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ซึ่งมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรค โดยเริ่มพบการระบาดบริเวณชายแดนของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2561 แต่ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดไปทั่วทุกภูมิภาคที่มีการเพาะปลูกมันสำปะหลัง สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงเป็นวงกว้างเกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ หากระบาดรุนแรงอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้มากถึง 30-80 เปอร์เซ็นต์
“มันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างจะมีลักษณะใบด่างเหลือง ใบหงิก ลดรูป ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต จำนวนหัวและขนาดของผลผลิตลดลง คุณภาพของแป้งลดลง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เกษตรกรสูญเสียผลผลิตและรายได้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับป้อนเข้าโรงงาน นอกจากนี้เกษตรกรยังขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาดสำหรับปลูกในฤดูกาลถัดไป ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมาอีกมาก ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. จึงได้พัฒนาชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังเพื่อช่วยเกษตรกรเฝ้าระวังโรคใบด่างในแปลงปลูกและใช้คัดกรองท่อนพันธุ์ก่อนนำไปปลูกเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปกับท่อนพันธุ์”
ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง อาวุธสกัดโรคระบาดในไร่มัน
ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล นักวิจัย ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาเทคนิคการตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง 2 รูปแบบ แบบแรกใช้เทคนิคอิไลซา (ELISA) ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความถูกต้อง ราคาไม่แพง มีความไว (sensitivity) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจที่มีการขายในเชิงการค้า และมีราคาถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ สามารถตรวจได้ 96 ตัวอย่างในคราวเดียว โดยเทคนิคนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการโรงแป้งมันสำปะหลัง หน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัย โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ตรวจที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรในการเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่เพาะปลูกและการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค
ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ ชุดตรวจแบบรวดเร็วหรือสตริปเทสต์ (Strip test) ที่ใช้งานง่าย มีความไวสูง ความแม่นยำสูง และรู้ผลเร็ว เกษตรกรนำไปใช้ตรวจได้เองในแปลงปลูก โดยนำใบพืชมาบดในสารละลายที่เตรียมไว้ในชุดตรวจ จากนั้นจุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืช และรออ่านผล 15 นาที หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C เพียงที่เดียว แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง T และ C แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากเกษตรกรตรวจพบว่ามีโรคใบด่างในแปลงได้เร็วก็สามารถทำลายต้นที่เป็นโรคได้ทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดหรือแพร่กระจายเชื้อไปในวงกว้าง
สวทช. ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน ช่วยเกษตรกรสู้โรคใบด่างมันสำปะหลัง
นายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันโรคใบด่างมันสำปะหลังถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศไทย โดยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาโรคนี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก เทคโนโลยีป้องกันและควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังจึงเป็นเทคโนโลยีที่มีความต้องการมากที่สุดในขณะนี้
“ชุดตรวจโรคใบด่างที่ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช.พัฒนาขึ้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าแปลงมันสำปะหลังของตนเองนั้นติดโรคใบด่างหรือไม่ หากพบว่าติดโรคใบด่างก็สามารถถอนทำลายต้นพันธุ์ทิ้งได้ทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่แปลงปลูกข้างเคียงและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยปัจจุบัน สท. ได้นำเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการแปลงมันสำปะหลังอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ในพื้นที่ดังกล่าว”
นอกจากนี้ ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ นักวิจัย ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยเทคนิค ELISA แล้ว 6 แห่ง คือ บริษัทสงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดนครราชสีมา บริษัทเอฟ ดี กรีน ในเครือบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร บริษัทเอเซียโมดิไฟด์สตาร์ช จำกัด จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานสภาเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โดยทีมวิจัยไบโอเทคทำหน้าที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำเชิงเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานที่รับถ่ายทอดนำเทคโนโลยีชุดตรวจไปใช้ในการตรวจสอบโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงทีอย่างเช่นเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง ช่วยลดผลกระทบรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของไทย และทำให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้ในยามวิกฤต สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
หน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชนที่สนใจเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหัง สามารถติดต่อทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โทรศัพท์ 025646700 ต่อ 3342
เรียบเรียงโดย วีณา ยศวังใจ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.