หน้าแรก อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน
อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน
23 มิ.ย. 2565
0
BCG
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

 

ไข่เน่า คือ ชื่อฟักทองพันธุ์ท้องถิ่นที่คนน่านปลูกกันรุ่นต่อรุ่นนานกว่า 3 ช่วงอายุคน ชื่อ ‘ไข่เน่า’ มีที่มาจาก ‘สีเขียวขี้ม้าแลคล้ายไข่เน่า’ ของเนื้อฟักทอง แม้สีไม่สวยแต่อร่อยกินได้ไม่มีเบื่อ เพราะเนื้อทั้งเหนียว หนึบ และหวานมันกำลังดี” …คำบอกเล่าของ ฑิฆัมพร กองสอน ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ที่กล่าวถึงลักษณะเด่นของฟักทองพันธุ์พื้นเมืองน่านที่ได้รับการอนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย และกำลังจะเป็นผลผลิตสำคัญที่สร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ชุมชน ในงานเสวนา “ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า ความยั่งยืนทางพันธุกรรมของชุมชน” ภายใต้การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC 2022)  

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน
ฑิฆัมพร กองสอน ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน

 

ฑิฆัมพร กองสอน เล่าย้อนว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชาวตำบลบัวใหญ่ จังหวัดน่าน มีแผนฟื้นฟูป่าน่านที่ขึ้นชื่อว่าเขาหัวโล้นให้กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำที่ปลอดภัยให้คนในประเทศ รวมถึงปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากเคมีสู่อินทรีย์ โดยมีโจทย์สำคัญว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ชาวบ้านจะต้องสร้างรายได้มากพอที่จะเลี้ยงปากท้อง สามารถชำระหนี้ธนาคาร และหากเป็นไปได้ควรมีรายได้ทุกวัน ทุกเดือน และทุกปี เพื่อให้ทำเกษตรอินทรีย์ต่อไปได้อย่างยั่งยืน

โจทย์ใหญ่อันแสนท้าทายได้ผลักดันให้พวกเขาเริ่มหันมาทำเกษตรอินทรีย์ และยกระดับการทำงานไปสู่ระดับจังหวัด จนเกิดเป็น “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน” ในปี 2559  ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 39 วิสาหกิจ จาก 27 ตำบล ใน 12 อำเภอของจังหวัดน่าน โดยตั้งธงร่วมกันปลูก “ฟักทองอินทรีย์” ให้เป็นพืชเศรษฐกิจอัตลักษณ์จังหวัดน่าน ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล-ประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) และหน่วยงานพันธมิตร

ฑิฆัมพร เล่าว่า พืชเศรษฐกิจของจังหวัดน่านที่ตอบโจทย์การสร้างรายได้มากที่สุดคือ ‘ฟักทอง’ เพราะคนน่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปลูกฟักทองพันธุ์การค้าเป็นทุนเดิม โดยสายพันธุ์ที่เหมาะต่อการนำมายกระดับมากที่สุดคือ ‘พันธุ์ไข่เน่า’ เพราะเป็นพันธุ์ท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคนน่านนิยมรับประทาน รวมถึงผู้ประกอบการอย่างบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ก็ยอมรับในเรื่องรสชาติ พร้อมรับจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และยังพร้อมช่วยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ฟักทองไข่เน่าด้วย

 

เตรียมความพร้อมให้ ‘ไข่เน่า’

          แม้ฟักทองพันธุ์ไข่เน่าจะขึ้นชื่อเรื่องรสชาติว่าไม่สองเป็นรองพันธุ์ไหน ทำให้มีชัยเรื่องการตลาด แต่ปัญหาสำคัญคือฟักทองไข่เน่าพันธุ์แท้เริ่มสูญหายและกลายพันธุ์มากขึ้น การปลูกให้ได้ผลผลิตที่มีลักษณะและรสชาติที่คงที่จึงเริ่มทำได้ยาก ไม่ต่างจาก ‘การเสี่ยงดวง’ ดังนั้นสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. จึงได้เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อยกระดับการผลิตฟักทองพันธุ์ไข่เน่าให้มีคุณภาพดี ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน
ณัฐวุฒิ ดำริห์ นักวิชาการ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช.

 

            ณัฐวุฒิ ดำริห์ นักวิชาการจาก สท. ของ สวทช. เล่าว่า ฟักทองเป็นพืชผสมข้ามสายพันธุ์ตามธรรมชาติ การปลูกให้ได้ผลผลิตคงที่ เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจในการควบคุมการผลิตตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ โดย สท. ได้รับการประสานจากบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ให้เข้ามาช่วยเหลือในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ทีมจึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทำวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีการคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ การปลูก บริหารจัดการแปลง และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแก่เกษตรกรในจังหวัด

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน
ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน
ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า

 

ผลผลิตที่ดีต้องเริ่มต้นมาจากสายพันธุ์ที่ดี  รศ. ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี อาจารย์จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ร่วมกับตัวแทนเกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 50 คน คัดเลือกสายพันธุ์ฟักทองไข่เน่า โดยนำฟักทองพันธุ์ไข่เน่าที่มีลักษณะแตกต่างกันจำนวน 19 ผล มาผ่าดูลักษณะเนื้อ นึ่ง และชิม พร้อมลงคะแนนคัดเลือกฟักทองที่มีลักษณะและรสชาติตรงตามพันธุ์ที่สุดเพื่อใช้เป็นแม่พันธุ์สำหรับพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน
รศ. ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี อาจารย์จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

 

รศ. ดร.จานุลักษณ์ เล่าว่า ปัจจุบันฟักทองพันธุ์ไข่เน่ามีความกลายพันธุ์สูง จึงต้องมีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะพันธุ์ที่แน่ชัดก่อนนำมาวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ แล้วดำเนินการถ่ายทอดกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้อาสาสมัครของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยถ่ายทอดตั้งแต่วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงการบริหารจัดการแปลงเพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี ร่นระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวจาก 150 วัน เหลือ 85-90 วัน ปลูกได้ 3 ฤดูกาลต่อปี ให้ผลผลิตมากว่าพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกอยู่เดิมร้อยละ 20-40 ปัจจุบันมีการทดลองปลูกและเก็บเกี่ยวไปแล้วมากกว่า 4 รอบ

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

 

“การทำวิจัยลักษณะของฟักทองพันธุ์ไข่เน่าไม่เพียงสำคัญต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ทางการค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น เพื่อสงวนสิทธิ์การปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิตและจำหน่าย รวมถึงการส่งออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสิทธิ์ขาดในการยกระดับกระบวนการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นสมบัติของคนในจังหวัดน่านเท่านั้นด้วย ผลของสิทธิ์ขาดนี้จะนำไปสู่การสร้างรายได้และการอนุรักษ์สายพันธุ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนขอยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแล้ว และจะมีการยื่นจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ต่อไปในอนาคต” รศ. ดร.จานุลักษณ์ เสริม

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

 

 

‘ไข่เน่า’ ลงเขาเข้าห้างแล้ว

ทุกวันนี้ฟักทองพันธุ์ไข่เน่าไม่ได้เป็นของดีที่หารับประทานได้เฉพาะในเมืองน่าน เพราะปัจจุบันมีการขนส่งฟักทองพันธุ์ไข่เน่าคุณภาพกว่า 2.5 ตันต่อไร่ จากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ มาจำหน่ายในตลาดและห้างสรรพสินค้าชั้นนำของประเทศแล้ว นอกจากนี้เกษตรกรยังได้นำงานวิจัยมาแปรรูปผลผลิตฟักทองที่ไม่ผ่านเกณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์อย่างครบวบงจร

ฑิฆัมพร เล่าว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดน่านเริ่มจัดส่งผลฟักทองสดไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างท็อปซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดจริงใจแล้ว โดยผลผลิตที่ไม่ตรงตามมาตรฐานการจำหน่ายผลสด เช่น มีรูปทรงที่ไม่สวยงามหรือมีขนาดไม่ตรงตามกำหนดจะนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการแปรรูปจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และได้รับการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการจัดตั้งโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐานจากบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

 

“เนื้อฟักทองจะนำไปแปรรูปเป็นฟักทองผง ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ และต่อยอดเป็นอาหารสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีข้าวเกรียบฟักทอง แยมฟักทอง เส้นขนมจีนฟักทอง และน้ำมันเมล็ดฟักทอง ส่วนเศษที่เหลือจากการแปรรูปเกษตรกรจะนำไปหมักด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์เป็นฟักทองหมักสำหรับผสมในอาหารไก่ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าอาหารบำรุง และช่วยให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรงออกไข่ครบทุกตัว”

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

 

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฟักทองพันธุ์ไข่เน่าบางผลิตภัณฑ์ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว และจะนำเข้าจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่อไป ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฟักทองพันธุ์ไข่เน่าสามารถติดตามได้ที่ Facebook มะน้ำแก้ว by แม่ฑิ ผลิตภัณฑ์แปรรูปฟักทองอินทรีย์

“ผลจากการร่วมศึกษา วิจัย และพัฒนา เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ฟักทองพันธุ์ไข่เน่าตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำอย่างเข้มแข็ง เริ่มส่งผลให้เกษตรกรในเครือข่ายมีรายได้ที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว และยังส่งผลให้พื้นที่ป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านได้รับการเยียวยาฟื้นคืนสู่พื้นที่สีเขียวอีกครั้งด้วย” ฑิฆัมพร กล่าวทิ้งท้ายอย่างภูมิใจในฐานะผู้นำการยกระดับการทำเกษตรอินทรีย์และผู้แทนเกษตรกรเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจังหวัดน่าน

 

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

 

จากความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วนนำมาซึ่งการอนุรักษ์และสร้างมูลเพิ่มให้ฟักทองพันธุ์ไข่เน่าแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้พัฒนาการทำเกษตรตั้งแต่ฐานรากให้เข้มแข็ง เป็น Impact Value Chain ที่เป็นต้นแบบการยกระดับการทำเกษตรแก่ชุมชนในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยได้

 

BCG Economy Model

 


เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย : ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย : ฝ่ายจัดการความรู้และสร้างความตระหนัก สวทช.

แชร์หน้านี้: