ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในปัญหามลพิษทางอากาศที่อยู่คู่กับคนไทยมาเกือบทศวรรษแล้ว สาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งกิจกรรมในครัวเรือน การปล่อยไอเสียจากยานพาหนะ การก่อสร้าง การปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเผาในที่โล่งแจ้ง ซึ่งการจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนต้องอาศัยทั้งการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยฝุ่น PM2.5 และความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีรวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตจากทุกภาคส่วน
อย่างไรตามปัญหาฝุ่น PM2.5 อาจไม่สามารถคลี่คลายได้ในเร็ววัน การป้องกันที่ดีที่สุด คือการรู้เท่าทันถึงอันตราย และหลีกเลี่ยงการสูดฝุ่นพิษ PM2.5
PM2.5 อันตราย เล็กทะลุปอดเข้าสู่กระแสเลือด
ฝุ่น PM2.5 คือฝุ่นที่มีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเล็กมากพอที่มนุษย์จะหายใจเข้าสู่ปอดและซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายจึงมีทั้งแบบ ‘เฉียบพลัน’ เห็นผลใน 1-2 วัน และแบบ ‘เรื้อรัง’ ค่อย ๆ สะสม แล้วแสดงผลในระยะยาว
ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพไว้ในบทความเรื่อง ‘ฝุ่น PM 2.5 : เล็กทะลุปอดเข้ากระแสเลือด ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายจุดทั่วร่าง’ ว่า อาการแบบเฉียบพลันที่พบเห็นได้ทั่วไปมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ หายใจแล้วมีเสียงฟืดฟาด เลือดกำเดาไหล ซึ่งหากเลือดไหลลงคอก็จะทำให้เสมหะมีเลือดเจือปนได้ ส่วนหากเข้าตาก็จะทำให้เคืองตา ตาแดง และหากโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดผื่นคันและเป็นตุ่ม ส่วนผลที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมฝุ่น PM2.5 ไว้ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน เช่น ‘เส้นเลือดหัวใจตีบตัน’ ทำให้หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ ‘เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ’ ทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิต ‘เป็นมะเร็งปอด’ เพราะฝุ่นขนาดเล็กจะมีสารก่อมะเร็ง Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) นอกจากนี้ฝุ่น PM2.5 ยัง ‘เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์’ ได้ โดยฝุ่นจะไหลเข้าไปทางรกส่งผลให้เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย ติดเชื้อง่าย ทุพโภชนาการ และอาจเป็นโรคออทิสซึม ซึ่งผลกระทบทั้งหมดนี้มีการยืนยันที่ตรงกันจากงานวิจัยทั่วโลกแล้ว
นอกจากอาการเจ็บป่วยข้างต้นยังมีอีกหนึ่งความอันตรายต่อสุขภาพที่ควรตระหนักเป็นอย่างยิ่ง คือ ปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่มหาศาลนี้ทำให้คนที่ต้องสูดฝุ่นเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำเสี่ยงต่อการเป็น ‘โรคถุงลมโป่งพอง’ ได้เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ โดยจากข้อมูลสถิติของ Rocket Media Lab ระบุว่าการสูดฝุ่นของผู้คนในกรุงเทพฯ ช่วงปี 2564-2565 มีความอันตรายเท่ากับการสูบบุหรี่ 1,200 มวน
MagikFresh พื้นที่อากาศสะอาดกลางเมืองกรุง
ด้วยแต่ละวันในกรุงเทพฯ มีปริมาณฝุ่น PM2.5 มากน้อยไม่เท่ากันแปรผันไปตามการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคนเมืองและสภาพอากาศ ดังนั้นทุกคนจึงควรเช็คค่าฝุ่นเป็นประจำ และสวมใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ โดยเฉพาะในวันที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 37.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป เพราะเป็นปริมาณฝุ่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
ทั้งนี้หากวันไหนมีโอกาสได้เดินทางมายังละแวกสวนจตุจักรและอยากหาที่นั่งพักผ่อนหย่อนในใจบรรยากาศสวนอันร่มรื่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ขอนำเสนอ ‘ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่’ หรือ ‘MagikFresh (เมจิกเฟรช)’ ที่เปิดให้บริการแก่ผู้ใช้บริการสวนจตุจักรตลอดหน้าร้อนนี้ (ถึงพฤษภาคม 2567) โดย MagikFresh ตั้งอยู่ภายในสวนฝั่งติดถนนพหลโยธิน บริเวณใกล้ประตูทางเข้าออกสวนที่ตรงกับ MRT สถานีสวนจตุจักร (MRT ทางออกประตู 3)
MagikFresh เป็นอาคารลักษณะกึ่งปิดกึ่งเปิดขนาด 100 ตารางเมตร ที่มีเครื่องกรองอากาศทำหน้าที่ดึงอากาศจากภายนอกมากรองฝุ่น PM2.5 ก่อนปล่อยให้อากาศไหลเวียนเข้ามาภายในอาคาร แล้วระบายออกสู่ภายนอกผ่านช่องช่องระบายด้านบนหลังคา ทำให้ MagikFresh สร้างอากาศสะอาดที่มีค่า PM2.5 ต่ำกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ) ได้มากถึง 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ช่วยให้ผู้ใช้บริการหายใจได้สะดวกและรู้สึกสบายตัว โดยเมื่อผู้ใช้บริการเดินเข้ามาภายในอาคารจะได้พบกับสวนขนาดย่อมเป็นพื้นที่สีเขียวสดชื่น บริเวณผนังทั้ง 4 ด้านมีนิทรรศการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับ PM2.5 และ MagikFresh และที่ทั้ง 4 มุมของอาคารมีเก้าอี้ให้ผู้ใช้บริการได้นั่งพักผ่อนหรือทำกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ด้วยลักษณะอาคารที่เป็นแบบโปร่งใสผู้ใช้บริการจึงสามารถมองออกไปชมวิวภายนอกซึ่งเป็นบรรยากาศอันงดงามของสวนจตุจักรได้ด้วย
ปลูกต้นไม้ช่วยกรองฝุ่น PM2.5
นอกจากเทคโนโลยีเครื่องกรองอากาศฝีมือนักวิจัยไทยที่ช่วยสร้างอากาศสะอาดให้เราสูดเข้าปอดได้อย่างสบายใจแล้ว การปลูก ‘ต้นไม้’ ยังเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มเครื่องกรองอากาศตามธรรมชาติ เพราะต้นไม้มีส่วนช่วยกรองฝุ่น PM2.5 ได้ 10-50%
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ว่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า ต้นไม้สามารถดูดซับกลิ่น มลพิษ และฝุ่นละออง ผ่านทางใบและเปลือก โดยฝุ่น PM2.5 จะเกาะแน่นกับผิวของใบไม้ที่เป็นชั้นคิวติเคิล (cuticle) หรือเยื่อบุผิวนอก เนื่องจากมีสารคล้ายขี้ผึ้งและมีเส้นขนปกคลุมอยู่บนผิวใบ ฝุ่น PM2.5 ที่เกาะค้างอยู่บนใบและเปลือกจะถูกชะล้างด้วยน้ำหรือน้ำฝนลงสู่พื้นดิน
สำหรับตัวอย่างต้นไม้ที่ช่วยดักจับฝุ่นได้ดี ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า ต้นไม้ที่มีขนาดใบเล็ก มีใบจำนวนมาก ลักษณะใบขรุขระ และมีเส้นขนบนใบมากจะช่วยดักจับฝุ่นได้ดี เช่น ต้นโมก กัลปพฤกษ์ พะยูง นีออน จามจุรี หมากเหลือง ทรงบาดาล แก้ว และอินทนิล
อย่างไรก็ดี การปลูกต้นไม้ไม่ได้มีประโยชน์เพียงดักจับฝุ่นอนุภาคจิ๋วที่ลอยฟุ้งสร้างมลพิษในอากาศ แต่ยังมีส่วนช่วยลดอุณหภูมิได้ 0.4-3 องศาเซลเซียส สร้างความร่มรื่นและเย็นสบายให้กับเมืองของเรา
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และวัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์