For English-version news, please visit : Strawberry Disease Bot: Chatbot for strawberry disease identification
‘สตรอว์เบอร์รี’ เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทยที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรภาคเหนือมหาศาล ทั้งด้านการจำหน่ายผลสดและสินค้าแปรรูป รวมไปถึงการสร้างรายได้ผ่านการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมพื้นที่สวนและเลือกเก็บผลสตรอว์เบอร์รีสดกลับไปรับประทาน อย่างไรก็ตามหนึ่งในความเสี่ยงสูงที่เกษตรกรต้องเผชิญในการทำธุรกิจเป็นประจำทุกปี คือ การที่ต้นสตรอว์เบอร์รีติดโรค ซึ่งบางโรคมีความร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียผลผลิตยกแปลง หากไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่เริ่มต้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง พัฒนา ‘บอทโรคสตรอว์เบอร์รี (strawberry disease bot)’ แชตบอตสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคสตรอว์เบอร์รีผ่านภาพถ่าย เพื่อให้คำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
นายวศิน สินธุภิญโญ นักวิจัยกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG) เนคเทค สวทช. เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการพัฒนาบอทโรคสตรอว์เบอร์รี มาจากการร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนา ‘บอทโรคข้าว (rice disease bot)’ แชตบอตสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคข้าวผ่านภาพถ่ายจนประสบความสำเร็จ ซึ่งภายหลังจากทางมูลนิธิโครงการหลวงที่ทำหน้าที่ดูแลให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในภาคเหนือด้านการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวได้ทราบถึงข่าวผลงานวิจัยนี้ จึงติดต่อมาที่เนคเทค สวทช. เพื่อดำเนินงานความร่วมมือวิจัยและพัฒนาแชตบอตวินิจฉัยโรคพืชเมืองหนาว เพื่อให้เกษตรในภาคเหนือได้เข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำการเกษตร
“ภายหลังจากร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมทั้งด้านการเป็นพืชเศรษฐกิจ และการมีฐานข้อมูลเพียงพอต่อการเริ่มต้นพัฒนาระบบวินิจฉัยโรคด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทีมวิจัยและมูลนิธิโครงการหลวงจึงตัดสินใจเลือกสตรอว์เบอร์รีซึ่งเป็นพืชที่ค่อนข้างมีความพร้อมสูงมาพัฒนาระบบวินิจฉัยโรคแบบอัตโนมัติเป็นชนิดแรก โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาจนพร้อมให้เกษตรกรเข้าร่วมทดลองใช้ เพื่อช่วยกันยกระดับประสิทธิภาพในการวิเคราะห์โรคแล้ว”
บอทโรคสตรอว์เบอร์รีผ่านการออกแบบให้เกษตรกรใช้งานง่ายผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) เพียงถ่ายภาพรอยโรคที่เกิดขึ้นบนต้นสตรอว์เบอร์รีแล้วส่งภาพเข้าสู่หน้าแชต ระบบจะดึงภาพไปยังคลาวด์ และส่งให้ AI วิเคราะห์โรคด้วยเทคนิคเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) เมื่อได้ผลแล้วระบบจะส่งผลการวิเคราะห์พร้อมคำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมกลับมาให้เกษตรกรทราบภายใน 3-5 วินาที
นายวศินเล่าถึงเทคโนโลยีว่า แชตบอตสามารถวินิจฉัยโรคเด่นที่พบในการเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีในประเทศไทยได้แล้ว 5 โรค ประกอบด้วย โรคแอนแทร็กซ์โนส (วินิจฉัยรอยโรคได้ทั้งที่เกิดบนไหล ใบ และผล) โรคใบไหม้ โรคราสีเทา โรคราแป้ง และโรคใบจุดสีน้ำตาล โดยปัจจุบันระบบมีความแม่นยำในการวิเคราะห์ผลอยู่ที่ร้อยละ 60-70 ทั้งนี้จะมีความแม่นยำเพิ่มขึ้นตามปริมาณฐานข้อมูลที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งจะมาจากการที่เกษตรกรช่วยกันทดสอบใช้งานระบบ
“อย่างไรก็ตามแม้ตอนนี้ความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคจะยังไม่สูงมากนัก แต่เกษตรกรสามารถใช้งานแชตบอตได้แล้ว เพราะภายในกลุ่มจะมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิโครงการหลวงช่วยตรวจสอบความถูกต้องให้อีกครั้งหนึ่งด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ให้คำแนะนำการใช้งานไว้ว่า ‘หากเริ่มพบความผิดปกติของโรคภายในพื้นที่เพาะปลูกควรรีบถ่ายภาพและส่งข้อมูลให้ระบบช่วยวินิจฉัยโรคทันที เพื่อรับมือกับสถานการณ์อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารเคมีควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพด้วย’ สำหรับในมุมของการพัฒนาระบบ ทีมวิจัยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากเกษตรกรจัดส่งภาพรอยโรคเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ทีมงานได้นำไปใช้พัฒนาระบบให้ทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นจน ‘บอทโรคสตรอว์เบอร์รี’ เหมาะที่จะเป็นเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยเหลือเกษตรกรด้านการเพาะปลูกต่อไปในระยะยาว” นายวศินกล่าวทิ้งท้าย
บอทโรคสตรอว์เบอร์รีเป็นหนึ่งในตัวอย่างการยกระดับการทำการเกษตรของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนให้เกิดการทำเกษตรแบบสมัยใหม่เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำงาน สอดคล้องกับการเติบโตตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งให้คนไทย ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’
ปัจจุบันบอทโรคสตรอว์เบอร์รีเปิดให้ใช้งานแล้ว ผู้ที่สนใจใช้บริการเข้าร่วมกลุ่มแชตบอตได้ผ่านการสแกน QR Code นี้
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์