‘CBAM’ ย่อมาจาก ‘Carbon Border Adjustment Mechanism’ หรือ ‘มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน‘ เป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป ‘ผ่านการใช้มาตรการด้านคาร์บอน‘ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (carbon intensive products)
ปัจจุบันมาตรการ CBAM มีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้วโดยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ก่อนเริ่มเก็บค่า CBAM certification หรือเอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากผู้นำเข้าสินค้าในปี 2569 เป็นต้นไป
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาของสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สินค้ามีราคาที่แข่งขันในตลาด EU ได้
ปัจจุบัน CBAM เริ่มนำร่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนจากสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูงแล้ว โดยสินค้า 6 ประเภทแรกที่มีผลบังคับใช้ คือ 1) ซีเมนต์ 2) พลังงานไฟฟ้า 3) ปุ๋ย 4) ไฮโดรเจน 5) เหล็กและเหล็กกล้า 6) อะลูมิเนียม โดยมาตรการ CBAM มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ EU ได้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้เป็น 3 ช่วงหลัก ดังนี้
ปี พ.ศ. 2566-2568 (ค.ศ. 2023-2035) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ ‘transitional period’ ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำหนด โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน
ปี พ.ศ. 2569-2577 (ค.ศ. 2026-2034) เป็นช่วงบังคับใช้ หรือ ‘definitive period’ ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้า และต้องซื้อ CBAM certificates ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนของกลุ่มประเภทสินค้านั้น ๆ ซึ่งในระยะนี้ EU จะทยอยลดสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances) ลง
ปี พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035) เป็นต้นไป เป็นช่วงที่ EU บังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบหรือ ‘full implementation’ โดย EU จะยกเลิกสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances) ของทุกภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้นแล้วเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระยะเปลี่ยนผ่าน (พ.ศ. 2566-2568) แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศจึงควรเร่งจัดทำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้เมื่อถึงปี พ.ศ. 2569 ผู้ประกอบการไทยจะมีข้อมูลพร้อมแสดงต่อ EU ทำให้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุปสรรคมาทำให้การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย
ตัวอย่างการนำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนของแต่ละอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ เช่น ‘ภาครัฐ’ ใช้วางนโยบายและกฎเกณฑ์สีเขียวสำหรับสินค้าส่งออกและนำเข้า ‘ภาคเอกชน’ ใช้วางแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ‘ภาคการวิจัยและภาคการศึกษา’ ใช้พัฒนาเทคโนโลยีให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ
หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวผ่านมาตรการ CBAM ได้อย่างยั่งยืน คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยเองก็มีการตั้งเป้าหมายไว้เช่นกันว่า ‘ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) หรือก่อนหน้า‘
แนวทางสู่ Net Zero’ ประกอบไปด้วย
- จัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ
- พัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานหรือบริษัท
- ปรับโครงสร้างพลังงาน เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน
- บริหารกระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยคาร์บอน และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (circular design)
- เพิ่มสัดส่วนการหมุนเวียนวัสดุ
- ใช้เทคโนโลยีกักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน (CCUS) และใช้การกักเก็บคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ (nature based solution)
การนำแนวทางเหล่านี้ไปใช้จะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การก้าวผ่านมาตรการ CBAM รวมถึงเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาวด้วย ทั้งนี้แต่ละภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนากลไกสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้
ที่ผ่านมากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ก้าวผ่านมาตรการ CBAM ได้อย่างราบรื่นด้วยแล้วเช่นกัน โดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้นำความพร้อมและความเชี่ยวชาญเข้าดำเนินงานดังนี้
- TIIS จัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตเพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสินค้าขั้นพื้นฐานและพลังงานของประเทศไทยมาโดยตลอดกว่า 15 ปี ทำให้พร้อมนำฐานข้อมูลสนับสนุนแต่ละภาคส่วนก้าวผ่าน CBAM ทั้งด้านการประเมินคาร์บอนของกระบวนการผลิตและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้วางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ในปี พ.ศ. 2566 TIIS ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เพื่อใช้ในการจัดทำรายงาน CBAM รวมถึงเป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศ
- ปัจจุบัน TIIS กำลังขยายการสนับสนุนไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เช่นเดียวกับที่เคยดำเนินการกับกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนการบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้หลักคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของ TIIS และศูนย์แห่งชาติภายใต้ สวทช. ซึ่งหลังจากนี้ สวทช. จะยังคงดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เว็บไซต์ www.nstda-tiis.or.th หรืออีเมล admin-tiis@nstda.or.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์