ต่อเนื่องจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ‘Ve-Sea’ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปจากโปรตีนพืชในรูปแบบลูกชิ้นปลา เส้นปลา ฮือก้วย และกุ้ง เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ‘หมึกจากโปรตีนพืช’ ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่ม Ve-Sea ที่สายรักสุขภาพต้องว้าวอีกหนึ่งเทคโนโลยีแล้ว เพราะผลิตภัณฑ์นี้นอกจากจะมีเนื้อสัมผัสและรสชาติใกล้เคียงหมึกจริง ยังมีโปรตีนและไฟเบอร์ ปราศจากคอเลสเตอรอลและกลูเตน ที่สำคัญปลอดภัยจากสารเคมีที่อาจตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ปัจจุบันทีมวิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตา เพราะกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและยังมีตัวเลือกไม่มากนัก
ดร.นิสภา ศีตะปันย์ นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร เอ็มเทค สวทช. อธิบายว่า ปัจจุบันหากสำรวจห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ผู้บริโภคจะเริ่มพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากโปรตีนพืชเพิ่มขึ้นกว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือได้ว่ามีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์จากโปรตีนพืชชนิดอื่น ๆ เช่น หมู ไก่ ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะผลิตภัณฑ์ ‘หมึกจากพืช’ จะพบได้ว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มีเพียงผงบุกเป็นส่วนประกอบหลัก และอาจมีแป้งสาลีที่มีโปรตีนกลูเตนเป็นส่วนประกอบเสริม ทำให้ผู้บริโภคที่มีอาการแพ้กลูเตนไม่สามารถบริโภคได้
“ทีมวิจัยได้นำความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบโครงสร้างอาหารมาคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิต ‘หมึกจากโปรตีนพืช’ ในรูปแบบพร้อมปรุง (ready-to-cook: RTC) ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค โดยผลิตภัณฑ์นี้มีเนื้อสัมผัสและรสชาติใกล้เคียงกับหมึกจริง มีโปรตีนพืชเป็นส่วนประกอบที่ร้อยละ 4-6 มีไฟเบอร์สูง ปราศจากคอเลสเตอรอลและกลูเตน นอกจากนี้ยังมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในท้องตลาด ใช้เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ที่ต้องการลดหรือเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ แพ้อาหารทะเล และแพ้กลูเตน รวมถึงต้องการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลได้”
ผลิตภัณฑ์ Ve-Sea หมึกจากโปรตีนพืชนำไปใช้ปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นลวก ยำ ผัด แกง ทอด ปิ้ง ย่าง โดยผู้ประกอบการร้านอาหารหรือผู้บริโภครายย่อยสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ไปจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า เพราะผลิตภัณฑ์นี้เก็บในช่องแช่แข็งหรืออุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียสได้นานถึง 6 เดือน
ดร.นิสภา เสริมข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ว่า ทีมวิจัยให้ความสำคัญอย่างยิ่งเรื่องการเลือกใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายภายในประเทศ และการเลือกใช้เครื่องจักรที่มีการใช้งานทั่วไปในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ผู้ประกอบการระดับ SME เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้ได้ ซึ่งจากการประเมินต้นทุนการผลิตพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมีราคาที่แข่งขันกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากโปรตีนพืชชนิดอื่น ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจริงได้ ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีโอกาสทางการตลาดสูงทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ
นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารประเภทโปรตีนทางเลือกจากพืชแล้ว ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร เอ็มเทค สวทช. ยังมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทย ในฐานะหน่วยให้บริการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหาร (novel food) และการบริการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ในนาม FoodSERP (ฟูดเซิร์ป) สวทช.
ดร.นิสภา อธิบายถึงการให้บริการผ่าน ‘แพลตฟอร์ม FoodSERP’ หรือ ‘แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชันแบบ one-stop service’ ว่า สวทช. ได้จัดตั้งแพลตฟอร์มนี้ขึ้นเพื่อให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร 4 กลุ่ม คือ ส่วนผสมฟังก์ชัน โปรตีนทางเลือก อาหารเฉพาะกลุ่ม และสารสกัดฟังก์ชัน ซึ่งการให้บริการจะครอบคลุมทั้งการวิจัยและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายกำลังการผลิต การบริการวิเคราะห์ทดสอบ และการจัดเตรียมเอกสารรับรองเพื่อใช้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงการให้บริการอบรมและให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ
“ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร เอ็มเทค เปิดให้บริการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารทั้งในกลุ่มเนื้อจากโปรตีนพืช อาหารปรับเนื้อสัมผัสสำหรับผู้บริโภคที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะกลืนลำบาก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการจากผู้ประกอบการ ส่วนทางด้านบริการทดสอบ เอ็มเทคพร้อมให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้านเนื้อสัมผัสของอาหาร และได้ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ให้บริการทดสอบการย่อยและการดูดซึมสารอาหารด้วยเครื่องจำลองสภาวะการย่อยอาหารในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก (ระบบ tiny-TIMsg) และสภาวะการทำงานของลำไส้ใหญ่ (ระบบ TIM-2) รวมถึงวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิภาพของสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้นวัตกรรมอาหารที่นักวิจัย สวทช. ร่วมกับผู้ประกอบการวิจัยและพัฒนาขึ้น ไม่เพียงมีเนื้อสัมผัสและรสชาติที่สมจริง แต่ยังเป็นอาหารที่มีคุณภาพสูง” ดร.นิสภา กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต Ve-Sea ทั้งผลิตภัณฑ์หมึก กุ้ง ลูกชิ้นปลา เส้นปลา และฮือก้วยจากโปรตีนพืช ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณชนิต วานิกานุกูล ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เบอร์โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4788 หรืออีเมล chanitw@mtec.or.th และผู้ประกอบการที่สนใจร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารติดต่อได้ผ่านแพลตฟอร์ม FoodSERP สวทช. อีเมล foodSERP_by_NSTDA@nstda.or.th
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และเอ็มเทค สวทช.