ปัจจุบันทั่วโลกต่างตื่นตัวต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ระดับ 4.0 (industry 4.0) หรือการปรับเปลี่ยนให้เครื่องจักรภายในโรงงานสื่อสารถึงกันและกัน และสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างเรียลไทม์ เพราะจะช่วยให้ผู้ดูแลระบบตรวจสอบและสั่งการเครื่องจักรได้สะดวกจากทุกที่ทุกเวลา ลดขั้นตอนการทำงาน และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในระบบ นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากเครื่องจักรและเซนเซอร์ต่าง ๆ ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพสายการผลิตรวมถึงการบริหารธุรกิจด้วย
อย่างไรก็ตามการจะยกระดับภาพรวมของอุตสาหกรรมสู่ระดับ 4.0 ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะต้องอาศัยความพร้อมหลายด้าน ทั้งจากผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แรงงานทักษะสูง และเงินทุน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงเปิดให้บริการ ‘Industry 4.0 Platform’ แพลตฟอร์มรวบรวมบริการและกิจกรรมสนับสนุนการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 แบบครบวงจร (one-stop service) โดยเปิดให้บริการ 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย
- maturity ศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทย โดยมี Thailand i4.0 Index เป็นเครื่องมือวัดระดับความพร้อมของอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการยกระดับได้อย่างเป็นระบบ
- consulting บริการให้คำปรึกษาด้านการยกระดับโรงงานสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งด้านเทคโนโลยี เงินทุน และสิทธิประโยชน์
- training บริการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกระดับ ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบระบบเทคโนโลยีสำหรับใช้งานภายในโรงงาน (system integrator: SI) แรงงานทักษะสูง และผู้ให้บริการประเมินความพร้อมของโรงงาน
ทั้งนี้ในส่วนของ i4.0 maturity ปัจจุบัน Industry 4.0 Platform เปิดให้บริการประเมินความพร้อมของอุตสาหกรรมผ่าน ‘Thailand i4.0 Index’ 2 รูปแบบ แบบแรกคือ การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งจะเข้าไปสัมภาษณ์และประเมินแบบลงลึกภายในสถานประกอบการ เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่มีความแม่นยำสูง และให้คำแนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการได้ โดยผู้ประกอบสามารถนำผลการประเมินไปใช้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ด้วย ส่วนรูปแบบที่สองคือ การประเมินด้วยตัวเองผ่านระบบ i4.0 CheckUp ซึ่งเป็นระบบออนไลน์ การประเมินในรูปแบบนี้ผู้ประกอบการจะเป็นผู้ตอบคำถามลงในแบบสำรวจด้วยตัวเอง โดยผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงสถานะของโรงงานในปัจจุบัน และใช้เป็นแนวทางในการวางแผนยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0
โดยในปี 2567 นี้ สวทช. ได้ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้ารับการประเมินเพิ่มเติม ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมการประเมินระดับอุตสาหกรรมผ่านระบบ i4.0 CheckUp ภายในปีนี้ไม่น้อยกว่า 500 โรงงาน ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นคือ นอกจากผู้ประกอบการจะได้ทราบถึงสถานะของโรงงานอย่างละเอียดและใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนยกระดับโรงงานได้อย่างเหมาะสมแล้ว ภาครัฐยังสามารถใช้ข้อมูลพิจารณาแผนยกระดับอุตสาหกรรมไทยทั้งด้านการกำกับนโยบายและวางแผนสนับสนุนได้ด้วย
ในการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 มีบันได 4 ขั้นที่ผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางในการวางแผนได้ ขั้นแรก ‘online & interactive self-assessment’ คือ การประเมินความพร้อมของโรงงานด้วยตัวเองผ่านระบบ i4.0 CheckUp เพื่อให้ทราบถึงสถานะของโรงงานในปัจจุบัน และใช้เป็นแนวทางในการวางแผนยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0
ขั้นที่สอง ‘initiation’ คือ การประเมินความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่มีความแม่นยำสูง พร้อมได้รับคำแนะนำในการยกระดับโรงงานแบบเชิงลึก โดยผู้ประกอบสามารถนำผลการประเมินไปใช้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้
ขั้นที่สาม ‘solutioning’ คือ เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจที่จะเริ่มยกระดับโรงงานแล้ว สามารถเข้ารับคำแนะนำด้านเทคโนโลยี เงินทุน และสิทธิประโยชน์ รวมถึงเข้าทดสอบระบบจำลองสถานการณ์ด้วย testbed ต่าง ๆ ที่ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) สวทช. มีให้บริการได้ เช่น เครื่องจักร สายการผลิต และเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้วางแผนการปรับเปลี่ยนโรงงานจนมั่นใจ ก่อนการลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และกระบวนการผลิตภายในโรงงานจริง เพื่อลดการสูญเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
และขั้นสุดท้าย ‘implement & operation’ คือ การลดทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม นำไปสู่การเพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถรับบริการทั้งหมดนี้ได้จาก สวทช. แบบ one-stop service
‘Thailand i4.0 Index’ ดัชนีความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0
Thailand i4.0 Index เป็นดัชนีความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 ที่ สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี (ITAP) ร่วมกับสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการช่วยผู้ประกอบการประเมินความพร้อมของอุตสาหกรรม ทั้งนี้การพัฒนาได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม
Thailand i4.0 Index แบ่งการประเมินความพร้อมของอุตสาหกรรมออกเป็น 6 ด้านหลัก 17 ด้านย่อย โดย 6 ด้านหลักประกอบด้วย 1) technology 2) smart operation 3) IT system & data transaction 4) human capital 5) market & customers (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีได้ที่ www.thindex.or.th)
ทั้งนี้ในการประเมินความพร้อม คณะกรรมการจะประเมินโดยแบ่งระดับความพร้อมออกเป็น 6 ระดับ (band) ซึ่งในช่วงอุตสาหกรรม 3.0 และ 4.0 ที่มีการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีและการลงทุนที่ค่อนข้างสูง จะมีการแบ่งออกเป็นระดับย่อย เพื่อให้ผู้ประกอบการก้าวขึ้นแต่ละระดับได้ง่ายขึ้น
เมื่อผู้ประกอบการเข้ารับการประเมินอุตสาหกรรมแล้ว จะได้รับสรุปผลการประเมินโดยแบ่งออกเป็น 2 ตารางหลักดังภาพประกอบ ตารางแรก (ซ้าย) จะแสดงให้เห็นถึงระดับความพร้อมของอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบกับโรงงานชั้นนำของประเทศที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน (best in class: BIC) ส่วนตารางที่สอง (ขวา) จะแนะนำ 4 มิติที่ผู้ประกอบการควรปรับปรุงก่อน โดยพิจารณาจากระดับปัจจุบัน, โครงสร้างต้นทุน, KPI ของบริษัท และความห่างจาก BIC
ประโยชน์ 4 ต่อที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการประเมินระดับอุตสาหกรรม คือ
- ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 และการประยุกต์ใช้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร
- รายงานสรุปผลการประเมินระดับความพร้อม (assessment report) สำหรับใช้เป็นแนวทางกำหนดกลยุทธ์องค์กรตาม impact value chain
- ข้อมูลสำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดหา SI ที่เหมาะสมมาร่วมพัฒนา
- เอกสารรับรองการประเมินเพื่อใช้ในการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
บันไดขั้นแรกสุดของการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ผู้ประกอบการทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเองทันที คือ การประเมินความพร้อมของโรงงานผ่านระบบ i4.0 CheckUp
ขั้นตอนการประเมินทำได้ง่ายเพียงเข้าไปที่ www.nstda.or.th/i4platform/services/i4-online-self-assessment/ แล้วกดเริ่มการประเมิน ระบบจะให้ลงทะเบียนก่อนเข้าสู่หน้าแบบประเมิน โดยแบบประเมินจะแบ่งออกเป็น 6 ส่วน (section) แต่ละส่วนผ่านการออกแบบชุดคำถามให้ผู้ประกอบการทำความเข้าใจได้ง่ายและมีคำอธิบายศัพท์เฉพาะ แบบประเมิน 6 ส่วน ประกอบด้วย
- คุณลักษณะและเทคโนโลยีที่ใช้ในสายการผลิต
- ระบบสาธารณูปโภคที่ใช้ในการผลิต
- ระบบบริหารจัดการทรัพยากรภายในบริษัท
- การวิเคราะห์ตลาดและการบริหารวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
- การจัดการองค์กร กลยุทธ์องค์กร และการบริหารทรัพยากรบุคคล
- อุตสาหกรรมสีเขียว
ผลลัพธ์การประเมินที่ผู้ประกอบการจะได้ทราบ คือ ระดับอุตสาหกรรมในภาพรวม ระดับอุตสาหกรรมในแต่ละมิติ (17 มิติย่อย) ระดับอุตสาหกรรมสีเขียว และตัวอย่างเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในราคาประหยัด
4 ตัวอย่างเทคโนโลยีราคาประหยัดที่ สวทช. พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อผู้ประกอบการไทย คือ
- URCONNECT อุปกรณ์รับส่งสัญญาณแบบ universal เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าให้เป็น IoT สามารถสั่งการอุปกรณ์ได้จากทางไกล และรับสัญญาณจากเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ตรวจจับการทำงาน รวมถึงการประเมินสุขภาพของอุปกรณ์ มาประมวลผลและจัดเก็บที่ระบบคลาวด์ ช่วยให้ผู้ดูแลตรวจสอบข้อมูลและควบคุมการทำงานได้สะดวกจากทุกที่ทุกเวลา
- UNAI (อยู่ไหน) ระบบระบุตำแหน่งและเส้นทางการเคลื่อนที่ของอุปกรณ์และสินค้าภายในโรงงาน เช่น การทำ smart warehouse
- NETPIE ระบบ cloud computing สัญชาติไทย ที่เปิดให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม
- Industrial IoT and Data Analytics Platform (IDA Platform) แพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรและการใช้พลังงานภายในโรงงานผ่านระบบคลาวด์
เมื่อนำชุดอุปกรณ์เหล่านี้มาติดตั้งภายในโรงงาน จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของสายการผลิตแบบเรียลไทม์ โดยดูได้ทั้งประสิทธิภาพโดยรวมการผลิตของเครื่องจักร (overall equipment effectiveness: OEE) ประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน (energy monitoring) และแจ้งเตือนการบำรุงรักษาอุปกรณ์ล่วงหน้า (predictive maintenance: PdM) ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารพลังงานสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อปรับแผนงาน ก่อนส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลอุปกรณ์ปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจที่จะก้าวสู่ขั้นที่ 2, 3 และ 4 ของการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรือตั้งแต่ขั้น initiation ถึง implement & operation สามารถเข้ารับคำปรึกษาและบริการด้านต่าง ๆ แบบครบวงจรได้ที่ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) โดยศูนย์ตั้งอยู่ภายใน EECi จังหวัดระยอง ตัวอย่างบริการของศูนย์ เช่น
- Industry assessment
- training
- consultant
- low-cost platform solutions
- custom solution
- testbeds
โดย SMC มีระบบ membership สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการที่ศูนย์เป็นประจำ สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบจะได้รับจากการสมัคร คือ
- รับส่วนลดในการใช้บริการ
- รับคำปรึกษาเชิงลึกด้านเทคนิค และสิทธิประโยชน์
- ใช้พื้นที่ห้องทำงาน ห้องประชุม และห้องอบรม
- รับข้อมูลข่าวสารและกิจกรรม business matching
- จัดแสดงและสาธิตผลิตภัณฑ์ภายในศูนย์
รายละเอียดเพิ่มเติม
Website: www.nstda.or.th/i4Platform
Facebook: Thailand i4.0 Platform
ติดต่อสอบถามหรือขอรับบริการ
E-mail: i4Platform@nstda.or.th
Line: @i4Platform
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์