22 ส.ค. 66 ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวนวัตกรรมเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน “อควาเจด” (AquaJade) ผลิตภัณฑ์สาหร่ายเซลล์เดียวเพื่อควบคุมโรคระบาด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่มีความท้าทายในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์นี้พัฒนาขึ้นโดย ดร.วรรณวิมล ศักดิ์เสมอพรหม และ ดร.เพทาย จรูญนารถ นักวิจัยไบโอเทค สวทช. โดย “อควาเจด” มีศักยภาพกระตุ้นความสามารถของอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ช่วยจัดการกับความเสียหายจากโรคระบาดและส่งเสริมแนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาการลดลงของปริมาณกุ้งส่งออกอย่างต่อเนื่องจากการผลิตกุ้งได้ 400,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2553 ลดลงเหลือ 148,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 “เพราะเหตุใดประเทศผู้นำโลกด้านการส่งออกกุ้งจึงมีการผลิตลดลงได้ถึงเพียงนี้?” เป็นคำถามสะท้อนจาก ดร.วรรณวิมล ศักดิ์เสมอพรหม นักวิจัยไบโอเทค ผลผลิตที่ลดลงอย่างมากนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในตลาดสำคัญ การแข่งขันสูงกับประเทศคู่แข่ง และที่สำคัญที่สุดคือ ความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของเชื้อโรค การระบาดดังกล่าวนำไปสู่การสูญเสียอย่างร้ายแรง ซึ่งมักจะสูงถึง 60% ของผลผลิตทั้งหมด ทำให้โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมลดลง การจัดการปัญหาการติดเชื้อในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีภัณฑ์อื่น ๆ จึงถูกนำมาใช้ฆ่าแบคทีเรียและปรสิตก่อโรค
อย่างไรก็ดี ดร.เพทาย จรูญนารถ นักวิจัยไบโอเทค ได้เน้นย้ำว่า สารเคมีดังกล่าวไม่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัสได้ และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ยาปฏิชีวนะจะปนเปื้อนในผลผลิตสัตว์น้ำ ซึ่งอาจส่งผลเหนี่ยวนำให้สิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหารลำดับถัดไปเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะได้ ฉะนั้นเพื่อเป็นการต่อสู้กับความท้าทายเหล่านี้ “อควาเจด” ได้นำเสนอเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เพื่อการจัดการโรคระบาดในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยได้ใช้ประโยชน์จากสาหร่ายสีเขียวเซลล์เดียวซึ่งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของสัตว์น้ำขนาดเล็กหลายชนิด เช่น ลูกกุ้งและลูกปลา เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคในลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดร.วรรณวิมล อธิบายว่า ในการทดสอบอาหารผสม “อควาเจด” การให้ลูกกุ้งกินอาหารปกติเปรียบเทียบกับอาหารผสมผง “อควาเจด” ในอัตราส่วน 1:1 เป็นเวลา 4 วันก่อนการติดเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว พบว่า ในวันสุดท้ายของการทดสอบ อัตรารอดของลูกกุ้งในกลุ่มที่กินอาหารปกติมีน้อยกว่า 10% ในขณะที่อัตรารอดของลูกกุ้งในกลุ่มที่กินอาหารผสม “อควาเจด” สูงถึงเกือบ 70%”
เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและการนำไปใช้ได้จริง สาหร่ายเซลล์เดียวจะต้องผ่านกระบวนการทำสาหร่ายแห้งก่อนผสมอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนของสาหร่ายดัดแปลงพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม โดย ดร.เพทาย เปิดเผยว่า ผงสาหร่ายที่ได้จากการทำแห้งนี้ สามารถนำไปผสมเพื่อขึ้นรูปเป็นเม็ดอาหารสำหรับกุ้ง ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการประยุกต์ใช้เพื่อการป้องกันโรคและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
แม้ว่าศักยภาพของ “อควาเจด” ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพอย่างน่าพึงพอใจ แต่ผลิตภัณฑ์ยังคงมีความท้าทายในด้านการผลิตในปริมาณมาก โดยการเพาะเลี้ยงสาหร่ายดัดแปลงพันธุกรรมในลักษณะนี้ จะต้องดำเนินการในระบบปิดภายใต้สภาวะควบคุมที่ตั้งอยู่ในสถานที่ที่เป็นไปตามกฎหมายของแต่ละพื้นที่ รวมถึงยังมีความจำเป็นต้องศึกษาอายุการเก็บรักษา และปริมาณสาหร่ายที่เหมาะสมที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส
เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจเทคโน (techno-economic) รวมถึงต้นทุนที่ใช้ที่ส่งผลให้เห็นผลชะลอการตายของกุ้งจากโรคไวรัสได้ ทั้งนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำตามเวลาที่เปลี่ยนไป เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและผู้ส่งออกของไทยจะมีโอกาสในการปรับรูปแบบธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแนวใหม่ เพื่อการผลิตกุ้งระดับพรีเมียมซึ่งสอดคล้องกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน รวมไปถึงผลกระทบจากภาวะโลกรวนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันนี้ “อควาเจด” ไม่ได้เพียงแต่ช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่ยังแสดงถึงกระบวนการผลิตกุ้งด้วยระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
“ด้วยการสนับสนุนจากภาคส่วนรัฐบาล ผู้ลงทุนภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ “อควาเจด” พร้อมแล้วที่จะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนจากทั่วโลก ด้วยความร่วมมือกับผู้ที่มีบทบาทหลักในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทีมวิจัยมีความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดการค้นพบของเราให้เป็นประโยชน์ที่สามารถจับต้องได้สำหรับผู้ผลิตกุ้ง ผู้ส่งออก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด นำไปสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดอย่างยั่งยืน” ดร.วรรณวิมล กล่าวสรุป