หน้าแรก โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย จัดกิจกรรมเยาวชนประดิษฐ์หุ่นยนต์จากกระดาษแข็ง และเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีโลกเสมือนกับแชทบอทปัญญาประดิษฐ์
โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย จัดกิจกรรมเยาวชนประดิษฐ์หุ่นยนต์จากกระดาษแข็ง และเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีโลกเสมือนกับแชทบอทปัญญาประดิษฐ์
3 เม.ย. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย  ร่วมจัดกิจกรรมเยาวชนกิจกรรมเรียนรู้การประดิษฐ์หุ่นยนต์จากกระดาษแข็งและเชื่อมต่อเป็น AR กับ ChatGPT ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช.

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย โดย สวทช. ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จัดกิจกรรมเยาวชน ประดิษฐ์หุ่นยนต์จากกระดาษแข็ง ซึ่งเป็นวัสดุที่ประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีเสมือนกับแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร

โดยเป้าหมายของกิจกรรม เราต้องการให้เด็กได้พัฒนาทักษะสำคัญในโลกอนาคต ตั้งแต่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีโลกเสมือน ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการสื่อสาร  ผ่านการลงมือทำของเล่น ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายฮว่าง มินห์ เฟือง จากบริษัท GraphicsMiner Lab กล่าวว่า  เด็กๆ จะได้ทำของเล่นจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระดาษแข็ง ช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว ทักษะกระบวนการคิด และการทำงานเป็นกลุ่ม หุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและแทบเล็ต ทั้งระบบปฏิบัติการ Android หรือ iOS นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมจะสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ด้วย ChatGPT ผ่าน Augmented Reality (AR) ประกอบด้วย กิจกรรมวิศวกรสร้างจรวด ยานอวกาศ สถานีอวกาศ และเซอร์โว หุ่นยนต์พร้อมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถใช้ระบบ AR พูดคุยกับหุ่นยนต์ กิจกรรมแต่งเติมสีสันตกแต่งหุ่นยนต์ตามจินตนาการ  กิจกรรมวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ – ChatGPT กิจกรรมนักสื่อสารวิทยาศาสตร์น้อยสร้างสรรค์คลิปสั้นโดยใช้เทคโนโลยี AR เชื่อมต่อ ChatGPT สื่อสารหัวข้อที่ตนเองสนใจในโซเชียลมีเดีย

เด็กหญิงปุญยารัศม์ เสมะกนิษฐ์ (น้องโบตั๋น) นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี เล่าว่า วันนี้ได้มาเข้าค่ายกับ สวทช. รู้สึกดีใจและสนุกมาก เพราะได้รู้จักกับเพื่อนใหม่หลาย ๆ คน ได้ทำความรู้จักกับหุ่นยนต์ เป็นครั้งแรกที่ได้ลองประกอบหุ่นยนต์หลายรูปแบบด้วยตัวเอง ได้ใช้งานแอปพลิเคชันกับหุ่นยนต์ ได้ฝึกความละเอียดรอบคอบในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ต้องระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาด หากเราพลาดเพียงจุดเล็ก ๆ เพียงจุดเดียว ก็อาจทำให้หุ่นยนต์เสียหายได้เลย สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง อยากพัฒนาต่อยอดเป็นหุ่นยนต์สำรวจและเก็บขยะที่เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ทุกสภาพแวดล้อมทำให้ชุมชนและประเทศมีความสะอาดมากยิ่งขึ้น

เด็กชายสดุดี สิทธิชาติ (น้องเจได) นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เล่าว่า วันนี้ได้เรียนรู้การประดิษฐ์เยอะมาก ผมมีความฝันและชอบการต่อลังกระดาษมาก รู้สึกสนุก ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการนำ Chat GPT มาใช้งาน ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเพิ่มเติมโดยนำไปใช้งานกับอุปกรณ์อื่น เพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันได้อีก ในอนาคตอยากพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ที่ช่วยมนุษย์เก็บของ สามารถควบคุมการทำงานจากโทรศัพท์มือถือได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น

คุณศศิประภา เจริญธรรมรักษา ผู้ปกครองของเยาวชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดี  มีความเหมาะสมกับเด็กในยุคสมัยนี้ คือ มีการใช้ Chat GPT ประยุกต์เข้ากับสิ่งประดิษฐ์ เด็กได้เรียนรู้โปรแกรมใหม่ ๆ และด้วยความที่ สวทช. ร่วมมือจัดกิจกรรมผู้เชี่ยวชาญ AI จากเวียดนาม เด็ก ๆ จึงได้ฝึกการฟังภาษาอังกฤษด้วย ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าเด็กได้นำความรู้ด้านภาษามาใช้งานได้จริง และที่สำคัญกิจกรรมจัดในช่วงปิดเทอม เด็ก ๆ สามารถมาเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ ขอบคุณทาง สวทช. ที่จัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้

 

แชร์หน้านี้: