หน้าแรก Charged up : เรื่องน่ารู้ของพาวเวอร์แบงก์
Charged up : เรื่องน่ารู้ของพาวเวอร์แบงก์
30 ก.ค. 2567
0
นานาสาระน่ารู้
บทความ

Charged up : เรื่องน่ารู้ของพาวเวอร์แบงก์

 

แบตเตอรี่สำรอง หรือ พาวเวอร์แบงก์ น่าจะอยู่ในลิสต์ “ของมันต้องมี” ของใครหลาย ๆ คน และสำหรับอีกหลายคนอาจจะเรียกว่าเป็น “ของที่ขาดไม่ได้” เพราะต้องใช้ชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คู่กาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หูฟัง ฯลฯ ในยามเดินทางหรืออยู่ในที่ไม่มีปลั๊กไฟ

 

Charged up : เรื่องน่ารู้ของพาวเวอร์แบงก์

 

พาวเวอร์แบงก์เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองที่ประกอบด้วยแบตเตอรี่และแผงวงจรควบคุม เปิดตัวในปี พ.ศ. 2544 ที่งาน the Las Vegas International Consumer Electronics Show แม้จะเป็นเพียงต้นแบบที่มีลักษณะเป็นชิ้นงานสี่เหลี่ยมบรรจุถ่าน AA สองก้อนกับวงจรควบคุม แต่ไอเดียนี้ก็เตะตานักพัฒนาและนักลงทุนหลายเจ้า โดยเฉพาะจากประเทศจีน นำไปพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นพาวเวอร์แบงก์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

จากที่เริ่มต้นด้วยถ่าน AA สองก้อน พาวเวอร์แบงก์รุ่นพัฒนาแล้วก็เปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่แรง-อึด-ถึก-ทนขึ้น คือ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและลิเทียมพอลิเมอร์ โดยแบตเตอรี่ทั้งสองชนิดก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันบ้าง แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีความหนาแน่นพลังงานสูงกว่า ต้นทุนการผลิตถูกกว่า แต่ก็มีขนาดใหญ่กว่า หนักกว่า และต้องระวังเรื่องการใช้งานมากกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมพอลิเมอร์

ความจุของพาวเวอร์แบงก์มีหลายขนาดให้เลือกใช้ได้ตามต้องการ ตั้งแต่ 2,000 ถึงมากกว่า 32,000 มิลลิแอมแปร์-ชั่วโมง (mAh) โดยยิ่งความจุเยอะก็ยิ่งแพง หนัก ใช้เวลาชาร์จนานขึ้น รวมถึงเสี่ยงต่อการระเบิดที่รุนแรงกว่าด้วย

 

Charged up : เรื่องน่ารู้ของพาวเวอร์แบงก์

 

สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาตา (IATA: International Air Transport Association) จึงต้องกำหนดข้อจำกัดในการนำพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่องบินไว้ดังนี้

  • ห้ามนำพาวเวอร์แบงก์ใส่กระเป๋าเดินทางโหลดใต้เครื่อง
  • นำพาวเวอร์แบงก์ใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่องได้ โดยต้องมีขนาดความจุไฟฟ้าไม่เกิน 32,000 mAh
  • นำพาวเวอร์แบงก์ความจุไฟฟ้า 20,000 mAh (หรือน้อยกว่า 100 วัตต์-ชั่วโมง (Wh) ขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 20 ก้อน
  • นำพาวเวอร์แบงก์ความจุไฟฟ้า 20,000–32,000 mAh (หรือ 100-160 Wh) ขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน
  • ไม่อนุญาตให้นำพาวเวอร์แบงก์ความจุไฟฟ้ามากกว่า 32,000 mAh (หรือมากกว่า 160 Wh) ขึ้นเครื่อง

โดยตัวเลข 32,000 mAh คำนวณมาจากพลังงานไฟฟ้าของแบตเตอรี่สำรองขนาด 160 Wh ที่แรงดันไฟฟ้าประมาณ 5 โวลต์ (32,000 mAh x 5 V = 160 Wh) ซึ่งค่าพลังงาน 160 Wh นั้นเท่ากับ 1 ใน 7 เท่าของค่าพลังงานของระเบิดทีเอ็นทีปริมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอจะระเบิดยานพาหนะขนาดเล็กได้

 

Charged up : เรื่องน่ารู้ของพาวเวอร์แบงก์

 

แม้พาวเวอร์แบงก์อาจจะระเบิดได้ แต่ถ้าเราใช้อย่างเหมาะสม ถูกวิธี และไม่ประมาท ก็จะช่วยให้ใช้งานพาวเวอร์แบงก์ได้อย่างปลอดภัยและคุ้มค่า ซึ่งทำได้โดย

  • เลือกใช้อุปกรณ์ชาร์จให้เหมาะสมกับแบตเตอรี่
  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์ห่อหุ้มที่ไม่สามารถระบายความร้อนได้ขณะชาร์จ
  • ไม่ควรชาร์จในพื้นที่ปิด ไม่มีการระบายความร้อน หรือมีความร้อนสูง
  • ไม่ควรใช้จนหมด เพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้น
  • ถ้าไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลานานควรชาร์จไว้เพียงครึ่งเดียว ไม่ควรชาร์จจนเต็ม เพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว
  • ถ้าใช้งานเป็นประจำ ชาร์จเต็มได้ แต่ควรใช้และชาร์จสลับไปมา ไม่จำเป็นต้องให้แบตเตอรี่เต็มอยู่ตลอดเวลา
  • ไม่ควรชาร์จและใช้งานพร้อมกัน เพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้น

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

 


เรียบเรียงโดย รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.

แชร์หน้านี้: