สวทช. จับมือ Institute of Science Tokyo ยกระดับความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาบุคลากรวิจัยสู่อนาคต
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ศาสตราจารย์ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา และ ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจาก Institute of Science Tokyo ณ ห้องประชุม YT711 อาคารโยธี กรุงเทพฯ
คณะผู้แทนจากญี่ปุ่นนำโดย Prof. Naoto Ohtake ประธานสถาบัน Dr. Jun-ichi Takada รองประธานฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ และ Dr. Kenji Fueki คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ เดินทางมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้เพื่อหารือแนวทางยกระดับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยมีทีมงานจากโครงการ TAIST–Science Tokyo ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางเพื่อผลักดันความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์วิจัย ที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค
ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสการจัดตั้ง Institute of Science Tokyo อย่างเป็นทางการ พร้อมเน้นย้ำบทบาทของ สวทช. ในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยเสนอหัวข้อความร่วมมือในการดำเนินการวิจัย อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในสาขาการแพทย์และทันตกรรม การพัฒนาระบบคาร์บอนเครดิต รวมถึงการวิจัยเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ซึ่งล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่สอดรับกับแนวโน้มเทคโนโลยีโลกและเป้าหมายการแก้ไขปัญหาทางสังคมร่วมกัน
ภายในการประชุม ดร.หงลดา เทอดเกียรติกุล ได้นำเสนอภาพรวมบทบาทและพันธกิจของ สวทช. ในด้านการขับเคลื่อนงานวิจัยและการพัฒนาบุคลากรวิจัย พร้อมทั้งรายงานผลความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจาก สวทช. และ Institute of Science Tokyo ซึ่งได้ร่วมกันตีพิมพ์ผลงานวิจัยมากกว่า 150 ฉบับ ความสำเร็จนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและศักยภาพในการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อันเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดสู่ความร่วมมือด้านวิจัยในอนาคตอย่างกว้างขวาง และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างยั่งยืน
ในโอกาสเดียวกัน Prof. Naoto Ohtake ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของ Institute of Science Tokyo ว่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านการส่งเสริมศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยเน้นการบูรณาการองค์ความรู้หลากหลายแขนงร่วมกับแนวคิดเชิงวิสัยทัศน์ เพื่อสร้างคุณค่าและยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในระยะยาว
ด้าน Dr. Jun-ichi Takada แสดงความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรระดับนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกันบนเวทีโลก ขณะที่ Dr. Kenji Fueki นำเสนอแนวทางความร่วมมือด้านวิจัยในสาขาวิศวกรรมการแพทย์และทันตกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพได้อย่างก้าวกระโดด
การหารือยังได้สะท้อนเป้าหมายร่วมในการพัฒนาบุคลากรวิจัยคุณภาพระดับนานาชาติ ผ่านโครงการ TAIST–Science Tokyo ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย และ Institute of Science Tokyo โดยมีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสนับสนุนการพัฒนาประเทศในอนาคต
การเยือนในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในบทบาทของวิทยาศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนประเทศให้สามารถรับมือกับความท้าทายรอบด้านในอนาคต พร้อมเดินหน้าส่งเสริมโครงการความร่วมมือด้านวิจัย นวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยเน้นความเข็งแกร่งด้านการวิจัยและพัฒนาจากสองสถาบันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน