For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/nstda-and-csiro-team-up-in-mekong-plastics-innovation-alliance-between-thailand-and-australia.html
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 ณ ทําเนียบเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจําประเทศไทย: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พร้อมด้วยผู้แทน สวทช. เข้าร่วมงานเปิดโครงการพันธมิตรนวัตกรรมพลาสติกลุ่มน้ำโขงระหว่างไทยและออสเตรเลีย จัดโดย สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย และมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย สำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย (CSIRO) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และผู้แทนจากบริษัทผู้ประกอบกิจการด้านพลาสติก
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ในปัจจุบันขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุด ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายในการจัดการขยะพลาสติกเช่นเดียวกัน ซึ่งความท้าทายนี้ก็จะพบว่ามีโอกาสในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนนวัตกรรมอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความร่วมมือ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จ โดยความร่วมมือนี้ไม่จำกัดเพียงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมก็มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเช่นกัน เพื่อเปลี่ยนความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ผ่านการทำงานร่วมกัน ซึ่งโครงการพันธมิตรนวัตกรรมพลาสติกลุ่มน้ำโขงระหว่างไทยและออสเตรเลียนี้ จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการสร้างขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการแปลงความคิดที่ก้าวล้ำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่สามารถใช้งานได้จริง สวทช. มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนและทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในทำงานร่วมกัน นำไปสู่การสร้างอนาคตที่มีความยั่งยืนต่อไป
ดร. แองเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภาคภูมิใจที่ได้เปิดตัวโครงการความร่วมมือนวัตกรรมพลาสติกในลุ่มน้ำโขง ระหว่างไทยและออสเตรเลียครั้งนี้ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรนี้ จะรวบรวมความรู้ในท้องถิ่น ทรัพยากรจากภาคเอกชน และความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ เพื่อขับเร่งและขยายวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้นวัตกรรม เพื่อจัดการกับมลพิษพลาสติกในทางน้ำ สำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย (CSIRO) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ของประเทศไทย จะร่วมมือกับผู้ประกอบการในการระบุแนวทางใหม่เพื่อลดมลพิษในแม่น้ำและทางทะเล เสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย และสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าว
อมิเลีย ไฟฟิลด์ ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการ CSIRO ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การเปิดตัวพันธมิตรในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแบบองค์รวมและครอบคลุมมากขึ้น ในการจัดการกับขยะพลาสติกในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจการหยุดขยะพลาสติก (Ending Plastic Waste) ของ CSIRO ซึ่งมีเป้าหมายที่ 80 ต่อร้อยละของขยะพลาสติกที่เข้าสู่สิ่งแวดล้อมภายในปี 2573 การสนับสนุนนวัตกร (innovator) ในการแปลงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กลายเป็นวิธีแก้ปัญหาที่สอดรับกับโลกความเป็นจริงนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาระดับโลก เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มพันธมิตรของเราในการฝึกอบรมผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ในภูมิภาค “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกัน เนื่องจากปัญหาของพลาสติกนั้นเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าประเทศใดประเทศหนึ่งต้องรับมือด้วยตนเอง แนวทางและความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเท่านั้นที่จะทำให้เราสร้างความก้าวหน้าในการยุติขยะพลาสติกได้อย่างแท้จริง”