กระทรวง อว. โดย สวทช. – กรมควบคุมโรค กระทรวง สธ. ผนึกกำลังใช้ระบบ DDC-Care Platform เทคโนโลยีรับมือโรคระบาดข้ามพรมแดน บริการแก่กลุ่มผู้แสวงบุญชาวไทยที่เดินทางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์
(30 เมษายน 2568) ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 1 กระทรวง อว. อาคารพระจอมเกล้า: นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าว ความสำเร็จ DDC-Care เฝ้าระวังโรคเมอร์ส (MERS-CoV) ในผู้แสวงบุญที่เดินทางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ จากความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินมาตรการเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส MERS-CoV อย่างเข้มงวด ด้วย DDC-Care Platform เทคโนโลยีรับมือโรคระบาดข้ามพรมแดน ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุกและการเฝ้าระวังโรคตามมาตรการสาธารณสุข สำหรับผู้แสวงบุญชาวไทยที่เดินทางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายประสิทธิ์ มะหะหมัด เลขานุการจุฬาราชมนตรี ทีมนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแถลงข่าว
นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดูแลประชาชนและรับมือกับโรคระบาดในประเทศไทย ให้เกิดความปลอดภัยและเฝ้าระวังสุขภาพของผู้แสวงบุญชาวไทยทุกท่าน ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวง อว. โดย สวทช. ทั้ง 2 หน่วยงาน จึงจัดเตรียมพร้อมนำระบบ DDC-Care Platform ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะรับมือโรคระบาดข้ามพรมแดน เฝ้าระวังโรคเมอร์ส (MERS-CoV) ในผู้แสวงบุญ ที่เดินทางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ โดยระบบนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วจากการใช้คัดกรองโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ทั้งนี้ระบบดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยและช่วยสร้างความเข้มแข็งในวงการสาธารณสุขไทยอย่างแท้จริง ซึ่งในการแถลงข่าววันนี้มีทีมวิจัย สวทช. ประกอบด้วย ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ และ ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ ทีมนักวิจัย สวทช. ได้แนะนำ DDC-Care Platform ระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อ และ INTERVAC ระบบวัคซีนพาสปอร์ต นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการใช้งาน DDC-Care Platform เช่น การประยุกต์ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการเฝ้าระวังและควบคุมโรค โดยผู้แทนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพการทำงานของทั้งสองกระทรวงอย่างเข้มแข็ง
![]() |
![]() |
“การแถลงข่าวในวันนี้ ผมขอย้ำว่า ไม่ได้ต้องการให้เกิดความกังวลในหมู่พี่น้องชาวไทยมุสลิมของเราว่า การเดินทางไปแสวงบุญ จะมีการแพร่ระบาดหรือติดเชื้อของโรคดังกล่าวในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพียงแต่เป็นมาตรการป้องกันของรัฐบาล ซึ่งเป็นการต่อยอดจากแนวคิด “Hajj 5G 5Good” ได้แก่ Good Price (ราคาดี มีคุณภาพ), Good Service (บริการดี), Good Care (เอาใจใส่ดี), Good Health (สุขภาพดี) และ Good Relations (ความสัมพันธ์ดีระหว่างประเทศ)
![]() |
![]() |
โดยเฉพาะในข้อที่ 4 คือ Good Health หรือ สุขภาพดี นอกจากทีมแพทย์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงสาธารณสุข ที่เราส่งไปดูแลสุขภาพผู้แสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบียแล้ว เรายังติดตามดูแลสุขภาพของท่านหลังจากเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกด้วย จึงขอความร่วมมือทุกท่านให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และขอขอบคุณทุกหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยกันยกระดับความสามารถในการรับมือกับการระบาดของโรคและสร้างความปลอดภัยให้กับพี่น้องมุสลิมและประชาชนชาวไทยทุกคน” นายศุภชัย กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ระบบ DDC-Care พัฒนาโดย สวทช. ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรระบบ Cloud จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นระบบติดตาม ผู้มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการประเมินสถานการณ์ ติดตาม เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ เพื่อรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
“จุดเด่นของแพลตฟอร์ม DDC-Care มีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุข โดยสามารถประยุกต์ใช้ป้องกันและเฝ้าระวังโรคอุบัติซ้ำ หรือ โรคติดต่ออันตราย ซึ่งกรมควบคุมโรค นำระบบ DDC-Care ไปใช้เฝ้าระวังความเสี่ยงโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส ในกลุ่มพี่น้องคนไทยเชื้อสายมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน”
![]() |
![]() |
นอกจาก DDC-Care แล้ว สวทช. ยังได้พัฒนาต่อยอดระบบวัคซีนพาสปอร์ต INTERVAC มาสู่ INTERVAC HAJJ สำหรับการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เหลือง ให้กับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2565 โดยระบบ INTERVAC พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ทำการบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนและประชาชนที่เข้ารับบริการ ซึ่งเดิมการออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน จะจัดทำในรูปแบบ “สมุดเล่มเหลือง” ที่เขียนด้วยลายมือ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาการทำงานมากขึ้น และไม่สามารถรองรับปริมาณและความต้องการของประชาชนได้ เมื่อมีการนำระบบ INTERVAC มาใช้ หลังจากที่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลแล้วจะสามารถพิมพ์สมุดเล่มเหลืองได้ทันที พร้อมทั้งใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ QR Code
“ความสำเร็จของแพลตฟอร์ม DDC-Care และ ระบบ INTERVAC จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภาคการดูแลสุขภาพ และสามารถนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อการยกระดับการดูแลสุขภาพของคนไทยทุกคน”
ด้าน นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทำงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ที่เดินทางกลับมาจากการประกอบพิธีฮัจญ์ และแนะนำให้ใช้แอปพลิเคชัน DDC-Care ในการรายงานสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผู้ที่อาจจะเสี่ยงเป็นผู้ป่วยโรคเมอร์สภายหลังจากเดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนาในตะวันออกกลาง และเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ลดการแพร่กระจายของโรคทั้งในครอบครัวและชุมชน
“ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้นำระบบ DDC-Care มาใช้เฝ้าระวังความเสี่ยงโรคเมอร์ส ใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดตรัง สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อบริการแก่กลุ่มผู้แสวงบุญที่เดินทางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ ดังนั้นระบบ DDC-Care จึงถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าระวังและรับมือกับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ หรือโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งเป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว”