หน้าแรก สวทช. – อบจ.ระยอง ขยายผลพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีถุงห่อทุเรียน Magik Growth ให้กลุ่มเกษตรกรสวนทุเรียนนำร่องต้นแบบ จ.ระยอง
สวทช. – อบจ.ระยอง ขยายผลพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีถุงห่อทุเรียน Magik Growth ให้กลุ่มเกษตรกรสวนทุเรียนนำร่องต้นแบบ จ.ระยอง
17 ก.พ. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

17 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุม2 ชั้น 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง: เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

นำโดย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นำ ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. และทีมงานเข้าพบ นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษา อบจ. ระยอง นายสมศักดิ์ เกตุสาคร เลขานุการ นายก อบจ. ระยอง นางนวรถ ปะรักมะสิทธิ์  ผู้อำนวยการสำนักแผนภาพรวม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นายโชติชัย บัวดิษ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ผล จ.ระยอง และเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนทุเรียน จ.ระยอง เพื่อนำเสนอกิจกรรมนวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth สวนทุเรียนนำร่องต้นแบบพื้นที่จังหวัดระยอง

นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษา อบจ. ระยอง กล่าวว่า รู้สึกดีใจอย่างยิ่งที่ได้เห็น สวทช. นำนวัตกรรม ถุงห่อทุเรียน Magik Growth ที่นักวิจัยไทยคิดค้นเป็นถุงห่อทุเรียนสีแดงผลิตจากเทคโนโลยีการขึ้นรูปแบบนอนวูฟเวน ซึ่งทราบจากนักวิจัย สวทช. ว่าสาเหตุที่คิดค้นทำเป็นสีแดงนั้นยังเป็นการเพิ่มความยาวคลื่นแสงสามารถคัดเลือกช่วงแสงที่เหมาะสมกับเซลล์รับแสงที่ผิวผลไม้ ทำให้ผลทุเรียนสร้างสารสำคัญ เช่น แป้ง น้ำตาล วิตามิน รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ได้ดี เป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพไม้ผลอย่างทุเรียนและช่วยลดต้นทุนได้

นอกจากนั้นแล้ว ยังมี นวัตกรรมที่สนับสนุนเกษตรกรไปสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ทั้งระบบรักษ์น้ำ ที่เป็นเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับแปลงเปิด เทคโนโลยีไวมาก ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดสภาวะแวดล้อมด้วยเทคโนโลยี ไอโอที (IoT) และการให้ปุ๋ยต่างๆ ซึ่งเป็นความฝันของเกษตรกรยุคใหม่ที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดระยอง ทั้งนี้จังหวัดระยองและองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง พร้อมให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนในทุกมิติ ที่เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการชาวสวน และประชาชนในพื้นที่ในทุกๆ ด้าน

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มุ่งพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ถุงห่อ Magik Growth ที่นักวิจัย สวทช. นำมาขยายผลพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีเพื่อการทดสอบประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะเดียวกัน สวทช. ยังดำเนินการในส่วนของพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) รวมถึงการมุ่งขับเคลื่อนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระของชาติ การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของ EECi ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เป็นพื้นที่นวัตกรรมในจ.ระยอง ที่ สวทช. ดูแลอยู่ เพื่อนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาร่วมกับ อบจ. ระยอง เป็นความร่วมมือแบบจตุภาคีเพื่อหวังให้เกิดการบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวสวนทุเรียน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวสวนทุเรียนได้ ซึ่งจะนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ให้ชาวสวนทุเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความรู้ในการพัฒนาสวนบนฐานทรัพยากรที่สมบูรณ์และยั่งยืน

“สวทช. เข้าไปมีส่วนร่วมกับหลายภาคส่วนในความร่วมมือแบบจตุภาคี ไม่เฉพาะเรื่องทุเรียนเท่านั้น ยังมีระบบเลี้ยงปลาหนาแน่นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งทีมวิจัยเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ดังนั้นหากมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกษตรกรได้เข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างกาวกระโดด สร้างความเข้มแข็งให้กับจังหวัดและประชาชนในพื้นที่”

ด้าน นางนวรถ ปะรักมะสิทธิ์  ผู้อำนวยการสำนักแผนภาพรวม สกพอ. กล่าวว่า สินค้าเกษตรในพื้นที่ EEC ติด 1 ใน 5 ของสินค้าเกษตร ซึ่งการจัดอันดับเป็น 1 ใน 5 นั้นถือว่ามีศักยภาพในระดับสูง นอกจากนี้พื้นที่ EEC ยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแปรรูป โดยใช้วัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตรมาทำการผลิต อีกทั้งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการขนส่งเพื่อส่งออกทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ดังนั้นการวางแผนพัฒนาสินค้าเกษตร EEC ดูครอบคลุมทั้งหมดไปจนถึงประชากรในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นนั้น มีความต้องการสินค้าเกษตรมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนให้ประชาชนในพื้นที่ในอนาคต

“ปัญหาในพื้นยังมีการผลิตแบบดั้งเดิมอยู่มาก การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ยังมีน้อยมาก มีการใช้ทรัพยากรค่อนข้างสูง แต่รายได้ยังต่ำ ดังนั้น EEC จะต้องค้นหาศักยภาพและโอกาสทางการตลาดเพื่อจะพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างเช่น จังหวัดฉะเชิงเทรามีศักยภาพเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงอุตสาหกรรม ทั้งกุ้งและปลากะพง โดยถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงอันดับ 1 ขณะที่จังหวัดชลบุรีเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชพลังงาน และมีอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่สามารถมาเชื่อมโยงกับสินค้าเกษตรได้ ส่วนจังหวัดระยอง เหมาะเป็นแหล่งพื้นที่เพาะปลูกผลไม้จำนวนมากและอาหารทะเลเพื่อการส่งออก อย่างไรก็ตามในแผนการเกษตร ของ EEC ยังเปิดช่องให้ศึกษาสินค้าที่ผลิตออกมาแล้วให้มูลค่าต่ำ หากเกษตรกรพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการการผลิต ทาง EEC พร้อมที่จะใช้หลักการคุณภาพนำการตลาด เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของตลาดต่อไป” ผอ. สำนักแผนภาพรวม สกพอ. ระบุ

 

แชร์หน้านี้: