หน้าแรก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ร่วมกับ ไบโอเทค สวทช. จัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ร่วมกับ ไบโอเทค สวทช. จัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน
20 พ.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(20 พฤษภาคม 2567) ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) : การประชุมระดับสูงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจโอกาสในภาคเศรษฐกิจชีวภาพและกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนของภูมิภาคไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตร-อาหาร การประชุมรูปแบบไฮบริดนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 พ.ค. 2567 โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี โรเบิร์ต ซิมป์สัน Regional Programme Leader ผู้แทนจาก FAO Illias Animon ผู้แทนจาก FAO พร้อมกับ ดร. กาญจนา วานิชกร Director of Sectoral Development สำนักเลขาธิการอาเซียน ดร. จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร. รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมงาน

งานประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสมากกว่า 160 รายจากประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม การอภิปรายมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพในภาคอาหารและเกษตรกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งผลักดันกิจกรรมและความคิดริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจสูง

ในระหว่างการประชุมในวันแรก ที่ประชุมได้รับฟังและอภิปรายถึงบทบาทวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ถือเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพและยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรับมือและแก้ปัญหาความท้าทายระดับโลก โดย  โรเบิร์ต ซิมป์สัน Regional Programme Leader ผู้แทนจาก FAO กล่าวในช่วงพิธีเปิดงานว่า “เราจำเป็นต้องสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มและกระจายรายได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร เส้นทางของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพต่อจากนี้ควรรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวมวลที่มีอยู่ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากชีวมวลที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ และเพิ่มการผลิตชีวมวลอย่างยั่งยืน”

ดร. กาญจนา วานิชกร Director of Sectoral Development สำนักเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่าเศรษฐกิจชีวภาพมีศักยภาพที่จะปฏิวัติระบบการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ดร.กาญจนายังได้ร่วมแชร์เกี่ยวกับนโยบายและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพของอาเซียน เช่น ยุทธศาสตร์ความเป็นกลางคาร์บอนของอาเซียน กรอบนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน กรอบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ของอาเซียน และแผนปฏิบัติการเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนในอาเซียน

ด้าน ดร. จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงการใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

ด้าน ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่าการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปยกระดับผลิตภาพของผู้ผลิตส่วนใหญ่ที่อยู่ที่ฐานของปิรามิด ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้มแข็งรวมถึงการขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ Illias Animon ผู้แทนจาก FAO ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านเศรษฐกิจชีวภาพสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพันธมิตรด้านเศรษฐกิจชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย FAO เป็นหน่วยงานแรกและแห่งเดียวในสหประชาชาติที่ยกระดับเศรษฐกิจชีวภาพให้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ (strategic priority)

กิจกรรมการประชุมระดับสูงนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกในชุดกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และอภิปรายเกี่ยวกับการก้าวไปข้างหน้าด้วยวิสัยทัศน์ร่วมกันของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อขยายขนาด (up-scale) เศรษฐกิจชีวภาพในภูมิภาค ซึ่งชุดกิจกรรมนี้รวมถึงการประชุมสุดยอดเศรษฐกิจชีวภาพระดับภูมิภาคในปี 2568 ที่ FAO อยู่ในระหว่างการหารือกับพันธมิตรในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง

 

แชร์หน้านี้: