“FoodSERP” ติดปีกอุตสาหกรรมความงาม เพิ่มมูลค่าข้าวไทยด้วยเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ สร้างนวัตกรรม “ส่วนผสมฟังก์ชัน” ผลักดันเวชสำอางไทยตอบโจทย์ตลาด
(วันที่ 26 มีนาคม 2568) ภายในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2568 (NAC2025) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน (FoodSERP) และสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (TCOS) ชูตัวอย่างนำร่องความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และนักวิจัย ในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไทย โดยอาศัยการวิจัยและเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรชีวภาพของประเทศ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของไทย (Rice Biome) นักวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการผลิตสารประกอบฟังก์ชันจากข้าวผ่านเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ ทำให้ได้สารสกัดจากข้าวเครื่องหมายการค้า ARAMARA ที่เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับนวัตกรรมเวชสำอางต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ อาทิ เช่น โลชันและเอสเซนส์ ช่วยผลักดันการใช้ประโยชน์ของข้าวไทยในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย พร้อมเชื่อมโยงผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวกับสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยให้ยั่งยืนอีกทางหนึ่ง
ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า สวทช. มุ่งขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหนึ่งในกลไกสำคัญคือ แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน (FoodSERP) ซึ่งมีพันธกิจในการให้บริการวิจัยและนวัตกรรม การให้บริการการผลิตภายใต้มาตรฐานสากล รวมถึงการวิเคราะห์และทดสอบอาหาร เครื่องสำอาง และส่วนผสมฟังก์ชัน ตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าแบบครบวงจร (One-Stop Service) ซึ่งได้มีความร่วมมือกับสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (TCOS) ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณค่าข้าวไทยสู่ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยนำร่องพัฒนากระบวนการผลิตสารประกอบฟังก์ชันจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ด้วยเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ (precision fermentation) ร่วมกัน และต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามของไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของประเทศในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
![]() |
![]() |
“ตลาดความงามและสุขภาพมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้การพัฒนาและนวัตกรรมทั้งกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น และสร้างความแตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งปัจจุบันกระแสความนิยมมุ่งสู่การใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรรมวิธีการผลิตที่เป็นเทคโนโลยีสีเขียว (Green technology) เทคโนโลยีชีวภาพจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (bioproducts) โดยอาศัยหลักการแปรสภาพทางชีวภาพ (biotransformation) ด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ (precision fermentation) ถือเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีศักยภาพสูงที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบข้าวไทยเพื่อพัฒนาและนวัตกรรมกระบวนการผลิตส่วนประกอบฟังก์ชันสำหรับเครื่องสำอางในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skin care product) โดย FoodSERP ถือเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการทำงานร่วมกันกับสมาคม TCOS ดังกล่าว ซึ่งตอบโจทย์ มิติสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามกลยุทธ์ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (S&T Implementation for Sustainable Thailand) ของ สวทช.”
ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (Thai Cosmetic Cluster: TCOS) และกรรมการผู้จัดการบริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด เน้นถึงความสำคัญของการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดสากล และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยนวัตกรรมเวชสำอางจากข้าวไทย ภายใต้เครื่องหมายทางการค้า “ARAMARA” เป็นนวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์และต้นข้าวอ่อนหมัก (Rice ferment filtrate) ที่มีเอกลักษณ์ ได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีสีเขียวที่ผนวกเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ เข้ากับกระบวนการสกัดและกระบวนการปลายน้ำที่ไม่ใช้สารเคมีหรือความร้อน ทำให้มีคุณสมบัติที่ดีและโดดเด่นเหมาะกับการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบฟังก์ชันในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งสารสกัด “ARAMARA” ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สารช่วยผลัดเซลล์ผิวและลดเลือนริ้วรอย รวมถึงมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรคผิวหนัง ปัจจุบัน บริษัทได้ต่อยอดพัฒนาสารสกัด “ARAMARA” ไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ซึ่งได้รับการจดแจ้งผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ดร.เอจจี้ (Dr. Agei)” เพื่อการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ “ผลงานที่พัฒนาขึ้นดังกล่าว ได้ยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยจากโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BBF) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. และบริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทแผนธุรกิจเพื่อการขยายโอกาสสินค้าข้าว จากกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว โดยนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดสู่โอกาสทางธุรกิจ”
![]() |
![]() |