กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยโปรแกรม ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ติวเข้มกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและซัพพลายเชน ในการยกระดับโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ให้ได้ 100% ภายในปี 2568 ตอบโจทย์นโยบาย BCG Economy Model สาขาเกษตรและอาหาร
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ภายใต้กระทรวง อว. มีบทบาทหลักในการผลักดันประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยการนำงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินการได้อย่างประสิทธิภาพ และในปีงบประมาณ 2565 สวทช. ได้ดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรและอาหาร ผ่าน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP)
เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนกับผู้เชี่ยวชาญ และบริหารจัดการโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถยกระดับโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ในระดับที่สูงขึ้น ให้พร้อมยื่นขอการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในการทำโครงการ วิจัย พัฒนา หรือนวัตกรรมสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการดำเนินงานอุตสาหกรรมสีเขียวที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการแต่ละราย อันจะเสริมสร้างอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เข้มแข็ง และคงไว้ซึ่งการเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตรและอาหาร กล่าวว่า กระทรวง อว. และ กระทรวง อก. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วย “การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” มีระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญในการใช้ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์และเทคโนโลยี ตลอดจนการบริการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ระหว่างกระทรวง อก. และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) ภายใต้ สวทช. รวมถึงเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการ และผลักดันความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปสู่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม
“โครงการดังกล่าวจะประกอบด้วยกิจกรรมการให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจในอุตสาหกรรมสีเขียวและเตรียมความพร้อมในการดำเนินการต่าง ๆ ที่สอดคล้องทั้งในแง่การบริหารจัดการ ด้านการผลิตและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน เช่น ลดการใช้น้ำหรือพลังงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากสิ่งเหลือทิ้งหรือ by-products รวมถึงพัฒนาแนวความคิดใหม่ในการออกแบบหรือการผลิตสินค้าเพื่อลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy และสอดคล้องกับมาตรการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry: GI) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวง อก. ซึ่งตรงกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการแสดงจุดยืนในความร่วมมือถึงการรวมพลังกันขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ให้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต นำไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นนิมิตหมายที่ดีในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศ เพื่อช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ลดการใช้ทรัพยากร น้ำ และพลังงาน ลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิต และปรับเปลี่ยนของเหลือทิ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อันจะทำให้สามารถลดต้นทุนในระยะยาวได้ ทั้งยังช่วยลดการปล่อยของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการจากมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเกิดจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงเป็นการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (พ.ศ. 2564 – 2580) ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยในปี พ.ศ. 2568 ได้ตั้งเป้าหมายให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ครบ 100 % และตามแผนยุทธศาสตร์ BCG ที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ในระยะสั้นได้อย่างชัดเจนและเร่งด่วน
กระทรวง อก. โดย กรอ. จะประสานผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อนำเสนอข้อมูลความต้องการทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ อว.และร่วมกันพัฒนากลไก รวมถึงทำให้งานวิจัยมีผลในทางปฏิบัติ และมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ตลอดจนทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยทาง อว. มีโครงการ “การขยายผลโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อยกระดับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง” ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรและอาหาร ซึ่งมีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่จะช่วยสนับสนุนในการยกระดับผู้ประกอบการ กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้ตรงตามความต้องการ โดยทั้ง อว. และ อก. จะบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างกัน ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม และให้ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป