เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมงานแถลงข่าวออนไลน์ “กิจกรรมปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022)” กิจกรรมระดับโลกที่ในแต่ละพื้นที่เมืองทั่วโลกมากกว่า 400 เมือง ใน 40 ประเทศของ 6 ทวีป ร่วมจัดงานกันอย่างพร้อมเพรียง โดยประเทศไทยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรและอาสาสมัครที่ทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์พลเมือง ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, เมืองระยอง, เมืองขอนแก่น, เมืองเชียงใหม่ และเมืองหาดใหญ่
นางกุลประภา กล่าวว่า สำหรับในกรุงเทพมหานครมีนัดหมายรวมตัวกันเพื่อร่วมปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมืองขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2565 เวลา 15.00-21.00 น. ณ สวนเบญจกิติ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการสังเกต บันทึก และรายงานผลเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน iNaturalist ที่พัฒนาขึ้นโดย California Academy of Sciences และ National Geographic Society
“แอปพลิเคชันของ iNaturalist เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างสรรค์สังคมออนไลน์ด้านการสำรวจธรรมชาติ ซึ่งเปิดใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลระดับโลก และแชร์ผลการสำรวจให้แก่คนอื่นๆ ได้ ทำให้เราเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกล เช่น ขึ้นเขาหรือเข้าป่า ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ที่ต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal เว้นระยะห่างจากสังคม ในด้านการศึกษาแพลตฟอร์มนี้ยังนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ให้แก่เยาวชน ขณะเดียวกันข้อมูลที่ได้ยังมีประโยชน์ต่อการวิจัยสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากร การกระจายพันธุ์ และปกป้องธรรมชาติได้ดีขึ้น
ด้วยประโยชน์ดังกล่าว สวทช. ได้ริเริ่มชักชวนองค์กรและกลุ่มบุคคลที่สนใจมาร่วมพัฒนาเครือข่ายผู้ใช้งาน iNaturalist ในประเทศไทย และได้นำเสนอเรื่องราวของเครือข่ายวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science Network) ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2564 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่สำคัญยังได้ร่วมกันจัดทำคู่มือการใช้งานแอปพลิเคชันเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทย เข้าถึงการใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้ที่สนใจคู่มือฉบับภาษาไทยนี้ สามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธิโลกสีเขียว (https://greenworld.or.th/wp-content/uploads/2022/04/nbag.pdf)”
นางกุลประภา กล่าวต่อว่า ในกิจกรรม City Nature Challenge 2022 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้ สวทช. ยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพืชจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ดร.คมสิทธิ์ วิศิษฐ์รัศมีวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธาน ชีวภูมิศาสตร์ และนิเวศวิทยาของเห็ดรา และคุณอนุตตรา ณ ถลาง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าไม้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของป่า ไปร่วมกิจกรรมสำรวจในสวนเบญจกิติด้วย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งกว่ากิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ และเยาวชน รวมถึงประชาชนที่สนใจได้มีโอกาสออกมาสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ และร่วมกันเก็บข้อมูลทางชีวภาพของเมืองอย่างเป็นระบบ ในฐานะ ‘อาสาสมัครวิทยาศาสตร์พลเมือง’ เพื่อช่วยกันสร้างห้องเรียนธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่เพียงในห้องเรียน
“เชื่อว่ากิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริม เชื่อมโยงประชาคมเมืองให้เข้ากับระบบนิเวศในเขตเมืองของตัวเองมากขึ้น เห็นความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยซึ่งอยู่อันดับที่ 15 ของโลก เพราะประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ที่เรียกว่าเป็นจุดที่ดีที่สุดของการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตมีสิ่งมีชีวิต พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เยอะมาก ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญ นำมาสู่การอนุรักษ์ ตามแนวทางของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ ที่มุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน”
สำหรับองค์กรร่วมจัดกิจกรรม City Nature Challenge 2022 (CNC 2022) ได้แก่ Decathlon Thailand ดีแคทลอน ประเทศไทย, กลุ่มบริษัทดาว และโครงการ Dow Thailand Mangrove Alliance, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), Nature Plearn Club, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), SOS EARTH, กลุ่มนก หนู งูเห่า, GYBN Thailand, โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต และเถื่อน Channel