หน้าแรก สวทช. นำเด็กไทยเปิดประสบการณ์ต่างแดน ณ ประเทศญี่ปุ่น เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมและวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมบูรณาการความรู้ด้าน STEAM Education
สวทช. นำเด็กไทยเปิดประสบการณ์ต่างแดน ณ ประเทศญี่ปุ่น เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมและวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมบูรณาการความรู้ด้าน STEAM Education
4 พ.ย. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 14 -18 ตุลาคม 2567 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ นำคณะนักเรียนไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 21 คน เข้าร่วมกิจกรรมค่าย The 6th International STEAM Camp Inspired by Fun hand-on Activities in Science, Technology, engineering, Arts and Mathematics in Japan ณ สถาบันวิจัยชั้นนำ พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช.

ในกิจกรรมแรก ทางโครงการได้นำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ณ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) องค์กรชั้นนำด้านการวิจัยและสำรวจอวกาศในญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนาดาวเทียม การปล่อยจรวด รวมถึงการสำรวจดวงดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะ รวมถึงการติดตามและควบคุมยานอวกาศ ตลอดจนถึงการฝึกนักบินอวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจในอวกาศ นอกจากการสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับนักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศและเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดผ่านกิจกรรมเชิงปฏิบัติการที่สนุกสนานและท้าทายโดยวิทยากรจาก JAXA ในกิจกรรม การสร้าง Magnus Glider แบบง่าย เพื่อเรียนรู้ปรากฏการณ์แมกนัส (Magnus Effect) จากการสร้างโมเดล Glider อย่างง่ายด้วยวัสดุใกล้ตัว ทำการทดลองและสังเกตแรงยกจากการหมุนด้วยหลักการทางฟิสิกส์และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในรูปแบบที่สนุกและสร้างสรรค์

กิจกรรมที่สอง นำนักเรียนไปยัง โตเกียวสกายทรี (Tokyo Skytree) หอคอยที่สูงที่สุดในโลก ไม่เพียงแต่วิวทิวทัศน์ที่สวยงามของเมืองโตเกียวที่จะได้เห็นจากหอคอยแห่งนี้แล้ว หอคอยแห่งนี้ยังมีจุดเด่นในการออกแบบทางวิศวกรรมโดยมีการสร้างจากเหล็กขนาดใหญ่ มีการออกแบบให้ฐานของหอคอยเป็นรูปสามเหลี่ยมซึ่งช่วยให้ลมพัดผ่านไปได้ง่ายและมีแกนกลางแข็งแรงที่ช่วยรองรับน้ำหนัก มีระบบการป้องกันภัยและระบบการควบคุมการสั่นสะเทือนที่ทันสมัย เพื่อป้องกันแผ่นดินไหวและสึนามิ มีการติดตั้งระบบระบายอากาศและควบคุมอุณหภูมิที่ช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศ โดยใช้ฉนวนกันความร้อนและกระจกสะท้อนความร้อนที่ช่วยป้องกันความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ตัวอาคาร ทำให้ไม่ต้องใช้พลังงานมากในการทำความเย็น นอกจากนี้ หอคอยแห่งนี้ยังใช้แสงสว่างอย่างชาญฉลาดโดยใช้หลอดไฟ LED ซึ่งเป็นหลอดไฟที่ประหยัดพลังงานกว่าแบบเดิมถึง 90% และยังมีระบบเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ ตามเวลาและความสว่างของแสงธรรมชาติ ทำให้ไม่เปลืองพลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังเป็นสถานีส่งสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นอีกด้วย

กิจกรรมที่สาม นำนักเรียนไปเรียนรู้วัฒนธรรมและสัมผัสประสบการณ์การทำข้าวเกรียบเซมเบ้ (Sokasenbei) ณ Sokasenbei Marusoichifuku Honten ซึ่งเป็นขนมเก่าแก่ของญี่ปุ่น Sokasenbei ไม่ได้เป็นแค่ขนมธรรมดา แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นสืบทอดกันมาหลายร้อยปี การทำ Sokasenbei แบบดั้งเดิมที่ใช้เตาถ่าน และการปรุงรสด้วยซอสถั่วเหลือง เป็นการแสดงถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติและความเรียบง่าย สำหรับในเชิงวิทยาศาสตร์ ในการทำ Sokasenbei นั้น เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของแป้ง เมื่อเรานวดและย่าง ซึ่งเป็นผลมาจากความร้อนและการระเหยของน้ำและการควบคุมความร้อนในการย่างขนม การปรับอุณหภูมิให้พอดีจะทำให้ Sokasenbei กรอบหอม อุณหภูมิที่แตกต่างกันส่งผลต่อความกรอบของขนมด้วยเช่นกัน

กิจกรรมที่สี่ นำนักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงสังคมและวัฒนธรรมกับเพื่อนนักเรียนญี่ปุ่น ณ Tokyo Gakugei University International Secondary School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนที่เน้นการบูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และความคิดวิเคราะห์ไปพร้อมกัน นักเรียนจะได้ทำกิจกรรมปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนญี่ปุ่น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระดมสมอง และการทำงานเป็นทีมร่วมกัน ในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความรู้และประสบการณ์ให้กับเด็กไทย แต่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับเยาวชนที่อาจส่งผลในอนาคต

กิจกรรมที่ห้า นำนักเรียนไปยัง The National Museum of Emerging Science and Innovation (Miraikan) พิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ของประเทศญี่ปุ่น เข้าชมปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์บนท้องฟ้าและอวกาศผ่าน The dome theater และเดินชมนิทรรศการต่าง ๆสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ และเล่นเกมผ่านระบบ Interactive ที่จัดแสดง เช่น การเดินโดยการจำลองเป็นผู้สูงอายุ การสัมผัสหุ่นยนต์และสังเกตปฏิกิริยาโต้ตอบของหุ่นยนต์ เทคโนโลยีด้านการประมวลผลภาพถ่าย

กิจกรรมสุดท้าย นำนักเรียนไปยัง พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Maxell Aqua Park Shinagawa เรียนรู้ธรรมชาติและชีวิตของสัตว์น้ำ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในเมืองที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น การฉายภาพเพื่อถ่ายทอดเสน่ห์ของโลกใต้ทะเลและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มีการจัดแสดงสิ่งมีชีวิตประมาณ 20,000 ตัวจาก 350 สายพันธุ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงการแสดงออกของแต่ละฤดูกาลและเปลี่ยนแปลงไปในเวลากลางวันและกลางคืน และชมการแสดงของปลาโลมาที่ชาญฉลาด

กิจกรรมค่ายครั้งนี้ นักเรียนได้รับทั้งความสนุกสนานและความรู้ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมกับเพื่อนวัยเดียวกัน และยังได้สัมผัสวิถีชีวิตและสังคมความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่น ซึ่ง สวทช. ได้เล็งเห็นว่า การจัดค่ายเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และวัฒนธรรมให้กับเยาวชนนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมให้เด็กไทยได้รับประสบการณ์ที่ดีในต่างประเทศ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ มีความรู้รอบตัว และสามารถปรับตัวได้ดีในอนาคต

 

แชร์หน้านี้: