หน้าแรก แกะกล่องงานวิจัย : โปรแกรม ‘ช่วยวิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์’ ลดเสี่ยงสูญพันธุ์
แกะกล่องงานวิจัย : โปรแกรม ‘ช่วยวิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์’ ลดเสี่ยงสูญพันธุ์
20 พ.ค. 2567
0
BCG
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

แกะกล่องงานวิจัย : โปรแกรม ‘ช่วยวิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์’ ลดเสี่ยงสูญพันธุ์

 

📌  1) เกี่ยวกับอะไร ?

เนื่องในวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความหลากหลายทางชีวภาพ (International day of biological diversity) สวทช. จึงขอนำเสนอผลงานการวิจัยโปรแกรมช่วยเลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อเลี่ยงการผสมภายในเครือญาติหรือ ‘เลือดชิด’ ลดความเสี่ยงการได้รับลักษณะอ่อนแอหรือโรคทางพันธุกรรรมจากพ่อและแม่ โดยโปรแกรมนี้มีศักยภาพในการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงถึงระดับประชากร จึงใช้สนับสนุนการดำเนินงานด้านอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อการคงสภาพการอยู่รอดด้วยตัวเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ในการวิจัยและพัฒนา ไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาโปรแกรมช่วยเลือกคู่ผสม #ละมั่งสายพันธุ์ไทยที่มีสถานะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เป็นลำดับแรก เพราะในอดีตละมั่งเคยมีสถานภาพสูญพันธุ์จากป่าธรรมชาติของประเทศไทยไปแล้ว แต่ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันเพาะเลี้ยงและนำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันจึงยังคงมีละมั่งพันธุ์ไทยและลูกผสมระหว่างละมั่งพันธุ์ไทยและพันธุ์เมียนมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนประชากรที่ยังคงเหลือน้อยในระดับวิกฤตผู้ดูแลจึงยังต้องระมัดระวังเรื่องการผสมพันธุ์อยู่เสมอ

จากความสำเร็จในการเลือกคู่ผสมละมั่งพันธุ์ไทย นักวิจัยได้ขยายการดำเนินงานสู่การประยุกต์ใช้กับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นที่มีสถานะวิกฤตไม่ต่างกันเรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างเช่น พญาแร้ง เสือลายเมฆ เก้งหม้อ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์พบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายพันธุ์สัตว์เหล่านี้ เพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรสัตว์

 

📌   2) ดีอย่างไร ?

โปรแกรมช่วยเลือกคู่ผสมสัตว์ทำงานโดยการวิเคราะห์ความคล้ายคลึงของจีโนไทป์ (genotype) ที่ได้จากสัตว์แต่ละตัวจำนวน 30,000 ตำแหน่ง โดยโปรแกรมจะนำเสนอค่าความแตกต่างของจีโนไทป์ทุกคู่ในรูปแบบตารางที่อ่านผลได้ง่าย เพื่อให้สัตวแพย์ประเมินความ ‘เลือดชิด’ หรือ ‘พันธุกรรมที่มีความแตกต่างกันน้อย’ ได้โดยสะดวก สามารถเลือกพ่อและแม่พันธุ์ที่มีความเหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้โปรแกรมยังช่วยวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ได้อีก 2 ด้าน ด้านแรกคือการวิเคราะห์สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตว่าเป็นพันธุ์แท้หรือลูกผสม เพื่อใช้ยืนยันจำนวนประชากรและวางแผนอนุรักษ์ตามสายพันธุ์ ด้านที่สองคือการสืบย้อนหาเครือญาติของสิ่งมีชีวิตโดยการสร้างแผนภูมิต้นไม้สำหรับแต่ละครอบครัว (family tree reconstruction) เพื่อแก้ปัญหาข้อมูลที่บันทึกไว้ไม่สมบูรณ์หรือสูญหาย ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลสายพันธุกรรม (pedigree) รวมถึงการสังเกตลักษะเด่นและด้อยที่ปรากฏให้เห็นและส่งต่อไปยังรุ่นต่อไปได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนการผสมพันธุ์อย่างเหมาะสม

 

📌  3) ตอบโจทย์อะไร?

ทีมวิจัยวางแผนพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ โดยปัจจุบันได้มีการขยายการดำเนินงานไปยังสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์สูงชนิดอื่น ๆ  อาทิ พญาแร้ง เก้งหม้อ เสือลายเมฆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ทีมยังมีแผนดำเนินงานร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการนำโปรแกรมเข้าสู่ระบบขององค์การสวนสัตว์ฯ​ เพื่อเปิดให้ผู้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และการผสมพันธุ์สัตว์ในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมเพื่อลดความเสี่ยงสูญพันธุ์ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

📌  4) สถานะของเทคโนโลยี?

พร้อมให้บริการเทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์เลือกคู่ผสม ละมั่ง พญาแร้ง เก้งหม้อ เสือลายเมฆ

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย : NBT พัฒนาโปรแกรม “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์” ลดเสี่ยงสูญพันธุ์ นำร่องอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย”

 


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์

แชร์หน้านี้: