📌 1) เกี่ยวกับอะไร?
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้คนมากกว่า 10 ล้านคนกำลังเผชิญความยากลำบากจากการสูญเสียการมองเห็น เนื่องด้วยอาการบาดเจ็บทางกระจกตา โดยที่ผ่านมาหนทางหลักเพียงหนทางเดียวที่จะรักษาผู้ป่วยได้อย่างค่อนข้างปลอดภัยคือการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาใหม่โดยอาศัยกระจกตาที่ได้รับบริจาคจากผู้เสียชีวิตเท่านั้น ซึ่งจากจำนวนกว่า 10 ล้านคนนั้นมีเพียงร้อยละ 15 ที่จะเป็นผู้โชคดีได้รับโอกาสนี้
จากปัญหาดังกล่าวนักวิจัยไบโอเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีผลิตกระจกตาชีวภาพจากสเต็มเซลล์ (stem cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดขึ้น เพื่อมอบโอกาสใหม่ในการมองเห็นให้แก่ผู้ที่มีความต้องการ เพื่อให้พวกเขาไม่ต้องตั้งตารอคอยด้วยความหวังเป็นระยะเวลายาวนานอีกต่อไป
📌 2) ดีอย่างไร?
กระจกตาเทียมที่ผลิตจากสเต็มเซลล์จะมีลักษณะเป็นกระจกตาใสเหมือนของเด็กแรกเกิด แตกต่างจากกระจกตาที่ได้รับบริจาคซึ่งมักมีความขุ่นมัวตามอายุของผู้เสียชีวิต การเปลี่ยนกระจกตาจะใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อนำโครงเลี้ยงสเต็มเซลล์ (มีลักษณะเหมือนกระจกตาของมนุษย์) และสเต็มเซลล์เข้าไปยึดติดบนดวงตาของคนไข้ จากนั้นสเต็มเซลล์จะค่อย ๆ กินโครงเลี้ยงเซลล์เป็นอาหารจนหมดและเติบโตขึ้นมาเป็นเซลล์กระจกตาตามธรรมชาติที่มีลักษณะเหมือนกับโครงเลี้ยงเซลล์ทุกประการ ทำให้ร่างกายไม่เกิดการต่อต้าน และมีความปลอดภัยในการใช้งานสูง ทั้งนี้ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. ที่ปัจจุบันได้ผันตัวไปเป็นสตาร์ตอัป (ภายใต้โครงการ NSTDA Start-up) เรียบร้อยแล้ว ได้เผยถึงความตั้งใจว่า ‘จะทำให้คนไทยเข้าถึงกระจกตาชีวภาพในราคาที่จับต้องได้’
📌 3) ตอบโจทย์อะไร?
ผลิตภัณฑ์นี้จะมีส่วนในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูญเสียการมองเห็นเนื่องด้วยอาการบาดเจ็บทางกระจกตา รวมถึงครอบครัวและคนใกล้ชิด โดยความสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย
📌 4) สถานะของเทคโนโลยี?
ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาอยู่ในขั้นตอนทดสอบในสัตว์ทดลอง
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย : สตาร์ตอัป ReLIFE พัฒนากระจกตาชีวภาพ ความหวังเปลี่ยนกระจกตาไม่ต้องรอรับบริจาค
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์