1) เกี่ยวกับอะไร ?
โดยทั่วไปในกระบวนการผลิตลูกชิ้นจากเนื้อปลาจะมีน้ำจากการต้มลูกชิ้นมากกว่า 3-6 ตันต่อวัน ซึ่งโรงงานจะเก็บน้ำไว้ในห้องเย็นเพื่อจำหน่ายให้ผู้ประกอบการประเภทจัดเลี้ยงหรือร้านอาหารที่ต้องการใช้น้ำชนิดนี้ทำอาหาร แต่ก็ยังมีน้ำต้มลูกชิ้นเหลือเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้โรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำทิ้งโดยเปล่าประโยชน์เป็นประจำทุกวัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนากระบวนการแปรรูปน้ำต้มลูกชิ้นเป็นหัวน้ำซุปปลาประเภทพร้อมปรุง (ready-to-cook: RTC) ที่มีกลิ่นหอมกรุ่น รสกลมกล่อมสไตล์เอเชีย เหมาะแก่การผลิตเป็นอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2) ดีอย่างไร ?
ข้อดีแรกของผลิตภัณฑ์ คือ อร่อยแบบไร้ผงชูรส เพราะนักวิจัยเลือกใช้กระบวนการทำเข้มข้นที่อุณหภูมิต่ำ เพื่อรักษากลิ่นรสของวัตถุดิบให้ได้มากที่สุด ไม่ใส่ผงชูรส และไม่ใส่สารปรุงแต่งชนิดที่ต้องระบุบนฉลากอาหาร (เช่น สารแต่งสี สารกันบูด) นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยังผ่านการฆ่าเชื้อด้วยกระบวนการสเตอริไลซ์ ทำให้จัดเก็บได้นานกว่า 1 ปี โดยไม่ต้องแช่เย็น
ข้อดีที่สองคือผลิตภัณฑ์เป็นหัวน้ำซุปชนิด RTC จึงเหมาะแก่การใช้งานทั้งในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรม ช่วยรักษาความคงที่ของรสชาติอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บวัตถุดิบสด ลดระยะเวลาการต้มน้ำซุป รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกระบวนการผลิต เช่น แรงงาน เชื้อเพลิง ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งจากข้อดีเหล่านี้ทำให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์เทรนด์อาหารโลกในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานสะดวก ประหยัดเวลา และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3) ตอบโจทย์อะไร ?
การนำน้ำต้มลูกชิ้นมาอัปไซเคิลเป็นหัวน้ำซุปปลาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ของเหลือทิ้งได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การแปรรูปเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกยังช่วยเพิ่มโอกาสในการพาสินค้าไทยไปครองส่วนแบ่งทางการตลาดด้วย
4) สถานะของเทคโนโลยี ?
พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแล้ว ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการให้บริการได้ที่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. อีเมล bbd@biotec.or.th
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย : สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีอัปไซเคิลน้ำต้มลูกชิ้นเป็น ‘หัวน้ำซุปปลา’ หอมกรุ่น กลมกล่อมสไตล์เอเชีย
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์