1) เกี่ยวกับอะไร ?
เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะด้าน computer vision เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตาว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอนาคต เพราะนอกจากจะช่วยลดเวลาการทำงานได้แล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวมได้เป็นอย่างดีด้วย โดยฟังก์ชันหลัก 3 ประเภทที่ได้รับความนิยมในการใช้งาน คือ image classification หรือการจำแนกประเภทวัตถุในภาพ object detection หรือการตรวจจับตำแหน่งวัตถุในภาพ และ image segmentation หรือการระบุพื้นที่วัตถุภายในภาพ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา NomadML (โนแมดเอ็มแอล) แพลตฟอร์มผลิตโมเดล AI ฟังก์ชัน computer vision (ทั้ง 3 ฟังก์ชันหลัก) ในรูปแบบที่ใช้งานง่าย วิธีเทรนไม่ซับซ้อน ที่สำคัญไม่ต้องเขียนโค้ด เหมาะทั้งการใช้ทดสอบระบบหรือ Proof of Concept (PoC) และการผลิตโมเดล AI เพื่อใช้งานจริง โดยแพลตฟอร์มนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก AI for Thai Platform และโครงการยกระดับแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลทางการแพทย์ภายใต้ Medical AI Consortium
2) ดีอย่างไร ?
การใช้งาน NomadML ทำได้ง่าย เพียง 3 ขั้นตอนหลัก ขั้นตอนแรกคือการนำชุดข้อมูลภาพที่ผ่านการแยกประเภทแล้วเข้าสู่ระบบ ขั้นที่สองปรับฟังก์ชันหรือพารามิเตอร์สำหรับประมวลผลหรือเลือกใช้ NomadML-Auto ฟังก์ชันปรับแต่งอัตโนมัติที่วิจัยและพัฒนาให้มีความแม่นยำสูงเสมือนผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ปรับแต่งให้ โดยหลังจากปรับแต่งเสร็จแล้วให้คลิกปุ่มเริ่มเทรนโมเดล เพื่อให้ระบบประมวลผลสร้างโมเดล AI ขั้นตอนสุดท้ายคือการตรวจสอบความแม่นยำของโมเดลว่าวิเคราะห์ได้มีประสิทธิภาพเพียงไร หากผลลัพธ์เป็นที่พึงพอใจก็โหลดโมเดลไปใช้งานจริงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ผู้ที่สนใจใช้งานแพลตฟอร์มนี้แต่ไม่มีพื้นฐานด้านการเทรนโมเดล AI มาก่อน สามารถเรียนรู้วิธีการใช้งานด้วยตัวเองได้จากคู่มือที่ทีมวิจัยจัดเตรียมไว้ให้ ส่วนโปรแกรมเมอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์ หรือ SI (System Integrator) แพลตฟอร์ม NomadML จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเรื่องการช่วยลดเวลาการทำงาน ทำให้มีเวลาทำ PoC หลายรูปแบบมากขึ้น และทำให้ได้โมเดล AI ที่ตอบโจทย์การใช้งานในเวลาอันรวดเร็ว
3) ตอบโจทย์อะไร ?
NomadML เป็นเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโมเดล AI ที่แต่เดิมต้องใช้เวลาผลิตนานและมีค่าใช้จ่ายสูง
ปัจจุบันเริ่มทดลองใช้งาน NomadML แล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเหล็กใช้ผลิตโมเดล AI เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าว่ามีตำหนิหรือไม่ อุตสาหกรรมอาหารแช่งแข็งใช้ผลิตโมเดล AI เพื่อตรวจสอบขนาดและรูปทรงของสินค้า อุตสาหกรรมการแพทย์ใช้ผลิตโมเดล AI เพื่อวิเคราะห์หารอยโรคจากฟิล์มรังสีเอกซ์
4) สถานะของเทคโนโลยี ?
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม NomadML เปิดให้ทดสอบใช้งานระบบแล้ว ผู้ที่สนใจใช้บริการได้ที่ www.nomadml.in.th โดยหลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบระบบ ทีมวิจัยจะเปิดให้ใช้งาน 2 รูปแบบ คือ แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับบุคคลทั่วไปและแบบเสียค่าบริการรายปี โดยสมาชิกจะได้รับพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล ระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลในระบบ และระยะเวลาการทำงานต่อครั้งมากกว่าบุคคลทั่วไป รวมถึงไม่ต้องรอคิวการใช้ระบบร่วมกับผู้ใช้งานทั่วไปด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย : ‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์