ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก และพันธมิตรหลายภาคส่วน จัดกิจกรรม“KIT CAMP 2024” และ “ก็มาดิ… CRAFT” ภายใต้การดำเนินงานโครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG” ระหว่างวันที่ 22 – 25 สิงหาคม 2567 ณ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก และโรบินสันแม่สอด โดยไบโอเทคได้ร่วมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องกิจกรรมสำรวจเก็บตัวอย่างและศึกษาเห็ดและราทำลายแมลงจากธรรมชาติ การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชในพื้นที่ และสาธิตการทำไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติและอิฐชีวภาพรักษ์โลกจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและกากกาแฟจากพื้นที่
โดยพิธีเปิดงานมี ดร.ธเนศ มณีกุล ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานพื้นที่ 32 สำนักงาน กปร. เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายกานดิษฏ์ สิงหากัน ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และแผนงานตามแนวพระราชดำริ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ และ ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. พร้อมด้วยคณะครูและนักเรียน ผู้แทนจากหน่วยงานรอบพื้นที่ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วน จัดทำกิจกรรม วิจัยสำรวจความหลากหลายทางธรรมชาติในพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ภายใต้โครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลายส่วน ตั้งแต่การสำรวจสร้างคลังข้อมูลเห็ดกินได้ การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ การผลิตอิฐชีวภาพ หมักกาแฟ ผลิตไซเดอร์ การใช้จุลินทรีย์สร้าง seed ball เร่งการงอกของเมล็ด การศึกษาจุลินทรีย์ก่อโรคพืชและแมลงศัตรูพืช การใช้จุลินทรีย์เพื่อควบคุมโรคพืชและแมลง รวมถึงการแนะนำพันธุ์พืชมะเขือเทศที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และอีกกิจกรรมที่ไบโอเทคให้ความสำคัญมากคือ การพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียนและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดตาก ให้มีความตระหนักรู้ในความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคสังคม ในการจัดกิจกรรม“KIT CAMP 2024” และ “ก็มาดิ… CRAFT” ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ สำนักงาน กปร. หอการค้าและ YEC จังหวัดตาก ททท.สำนักงานตาก บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมที่ไบโอเทคนำมาร่วมอบรมและถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้อง ๆ นักเรียนในพื้นที่ครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย ได้แก่ 1) การสร้างคลังข้อมูลเห็ดราในพื้นที่และรอบ ๆ ผาแดง 2) การสร้างคลังข้อมูลราทำลายแมลงเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ 3) การทำอิฐชีวภาพรักษ์โลกจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและกากกาแฟจากพื้นที่ และ 4) การเรียนรู้การจัดการโรคและแมลงด้วยชีวภัณฑ์ เพื่อประโยชน์กับเกษตรในพื้นที่และเครือข่ายชุมชน
ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงการสำรวจเห็ดในพื้นที่ว่า เห็ดมีส่วนร่วมในระบบนิเวศโดยช่วยฟื้นฟูป่าหลายประการ เห็ดหลายชนิดมีคุณสมบัติในการย่อยสลายซากพืช เพื่อปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ผืนป่า เห็ดบางชนิดอยู่ร่วมแบบพึ่งพาอาศัยกับรากพืช ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของต้นไม้ โดยทีมวิจัยได้นำเอาองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีและการปรับปรุงพันธุ์มาใช้ เช่น การปรับปรุงพันธุ์เห็ด โดยนำสายพันธุ์ดั้งเดิมจากที่นี่ไปปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีขึ้นในลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะเห็ดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับที่ตลาดต้องการ มีดอกขนาดใหญ่ขึ้น คุณสมบัติทางโภชนาการดีขึ้น หรือเห็ดที่อยู่ร่วมกับรากพืช มีการศึกษาชนิดเห็ดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสมกับต้นพืช และพยายามที่จะนำเห็ดชนิดนี้ใส่เข้าไปที่รากพืชเพื่อให้พืชเจริญเติบโต และสามารถฟื้นฟูป่าได้ ถ้าเรามีพันธุ์เห็ดที่ดี ชาวบ้านจะมีผลผลิตเห็ดที่ดี สามารถขายได้ โดยทีมวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชนและเด็ก ๆ ในพื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อให้มีความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ มีความเข้าใจในทรัพยากรที่มี ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เขาจะช่วยกันปกปักษ์รักษาป่าผืนนี้ให้มีความสมบูรณ์ต่อไป
นางสุชาดา มงคลสัมฤทธิ์ นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงกิจกรรมสำรวจราแมลงว่า ต้องการสำรวจราแมลงในพื้นที่เพื่อศึกษาถึงความหลากหลายของตัวอย่างราแมลง หลังจากที่สำรวจและจัดจำแนกชนิดของราแมลงแล้ว จะนำไปสร้างคลังข้อมูลความหลากหลายของราแมลงในพื้นที่
น้อง ๆ หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้จักราแมลงมาก่อน หลังจากน้อง ๆ ได้มาร่วมกิจกรรมสำรวจราแมลงกับพี่นักวิจัย จะได้เรียนรู้วิธีการสำรวจหาราแมลงในป่า ได้รู้จักชนิดของราแมลง โดยราแมลงในพื้นที่ผาแดงส่วนใหญ่มักจะพบเจอตามเศษซากไม้ใบทับถม กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของราแมลงและการนำราแมลงไปใช้ประโยชน์ เช่น บิวเวอเรีย และเมตาไรเซียม สามารถพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้
ด้าน นางสาวเชษฐ์ธิดา ศรีสุขสาม ผู้ช่วยวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงกิจกรรมการเรียนรู้การจัดการโรคและแมลงด้วยชีวภัณฑ์ว่า กิจกรรม KIT CAMP เราได้นำความรู้เรื่องเกษตรปลอดภัยโดยอาศัยจุลินทรีย์กำจัดแมลงมาให้กับน้อง ๆ เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ต่อยอดและนำกลับไปบอกกับที่บ้านได้ว่า จะทำการเกษตรอย่างไรที่ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือใช้น้อยลง
ซึ่งการจะใช้ชีวภัณฑ์ให้ได้ผล อย่างแรกคือต้องวินิจฉัยเป็น โรคร้าย แมลงดี แมลงร้าย เพราะแมลงมีหลายชนิด ตัวไหนดีต้องเก็บไว้ ตัวไหนร้ายต้องรีบควบคุม รวมถึงยังได้นำชีวภัณฑ์มาให้น้อง ๆ รู้จักด้วย ซึ่งการใช้งานต้องใช้ให้ถูกต้อง เก็บให้ถูก ไม่ใช้ตอนฝนตก และตอนร้อน และใช้ให้ตรงโรค ซึ่งเราคาดหวังว่า น้อง ๆ จะได้รับความรู้ มีแรงบันดาลใจนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ได้เข้าใกล้วิทยาศาสตร์มากขึ้น และนำเอาไปทำโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ด้วย
ปิดท้ายด้วย ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงกิจกรรมการทำหัวใจไมซีเลี่ยมสำหรับปลูกป่าลด carbon footprint และทำอิฐชีวภาพว่า กิจกรรมสาธิตและอบรมการทำหัวใจ BCG Nature Heart (Mycelium-Based Composite) และอิฐชีวภาพ (biobrick) เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เชื่อมโยงข้อมูลด้านจุลินทรีย์และเห็ดรานำไปส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ในโครงการฯ และพื้นที่ชุมชนโดยรอบและพื้นที่ภายใต้ความร่วมมือ โดยได้ให้น้อง ๆ ได้ทำไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติ และอิฐชีวภาพรักษ์โลกจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและกากกาแฟจากพื้นที่ และร่วมกันปลูกป่าจากหัวใจไมซีเลี่ยมที่น้อง ๆ ทำขึ้นเองด้วย