การประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (Lindau Nobel Laureate Meetings) เป็นการประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยได้เชิญผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Laureate) นักศึกษาและนักวิจัยจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม เริ่มการประชุมครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๕๑ ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันได้มุ่งเน้นผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มเยาวชน นักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงจากนานาประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามคำขวัญ ๓ ประการ คือ (๑) ให้ความรู้ (educating) (๒) สร้างแรงบันดาลใจ (inspiring) และ (๓) เชื่อมโยงเครือข่าย (connecting) โดยทั้งนี้ สภาการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (The Council for the Lindau Nobel Laureate Meetings) ร่วมกับมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (Foundation Lindau Nobel Laureate Meetings) จัดการประชุมนี้ขึ้นทุกปีในช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม หมุนเวียนไปตามสาขา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ และจะจัดการประชุมทั้งสิ้น ๖ วัน โดยมีพิธีเปิดที่เมืองลินเดาในวันแรกและพิธีปิดที่เกาะไมเนาในวันสุดท้าย สำหรับสาขาเศรษฐศาสตร์ จะจัดขึ้นทุก ๒ ปี เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๔
การประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๗๓ ในสาขาฟิสิกส์ ระหว่างวันที่ ๓๐ มิถุนายน – ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ มุ่งเน้นด้านการค้นคว้าวิจัยทางฟิสิกส์ ซึ่งมีผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลกว่า ๔๐ คน และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่กว่า ๖๕๐ คน เข้าร่วมการประชุมฯ ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาและนักวิทยาศาสตร์จากประเทศไทยที่ดำเนินการคัดเลือกโดยโครงการการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวน ๖ คน โดยเป็นนิสิตนักศึกษาที่ศึกษาในประเทศไทยจำนวน ๒ คน และกำลังศึกษาหรือทำวิจัยที่ต่างประเทศอีก ๔ คน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนชาวไทยที่ได้รับเลือกโดย National Academy of Sciences สหรัฐอเมริกา เข้าร่วมด้วยอีก ๑ คน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงแรมไบเออริชเชอร์โฮฟ ลินเดา ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น. พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ไพรัช ธัชยพงษ์ เลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและรองเลขาธิการ มูลนิธเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วย ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นำนักวิทยาศาสตร์ไทยที่เข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ครั้งที่ ๗๓ จำนวน ๗ คน เฝ้าทูลละอองพระบาท และร่วมฉายพระฉายาลักษณ์ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมในเวลา ๑๔.๐๐ น. ตามคำเชิญของมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ซึ่งเป็นผู้จัดงาน ในฐานะวุฒิสภากิตติมศักดิ์ (Honorary Senate) ของมูลนิธิฯ
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ได้กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่าเป็นการประชุมที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่นำความรู้ไปต่อยอดพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ ต่อไป
ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงริเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน โครงการได้สนับสนุนผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม รวม ๘๗ คน จำแนกตามสาขาการประชุมในแต่ละปี ได้แก่ สาขาฟิสิกส์ ๒๗ คน สาขาเคมี ๒๓ คน สาขาฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ ๑๗ คน และสาขาสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ ๒๐ คน
ผู้แทนประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกโดยโครงการการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้เข้าร่วมการประชุมในปีนี้ จำนวน ๖ คน ประกอบด้วย
๑. นางสาวธัญรดา สุขวิบูลย์ นักศึกษาปริญญาตรี สาขาฟิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล
๒. นายปรมตถ์ บุณยะเวศ นักศึกษาปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๓. นางสาวเกษชฎาภาส รัตนสุภา นักศึกษาปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ University of Strasbourg สาธารณรัฐฝรั่งเศส
๔. นายเจตน์ อรุณแสงโรจน์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ Swiss Federal Institute of Technology Zurich สมาพันธรัฐสวิส
๕. ดร.พัทธมน กองคำบุตร นักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ University of Hamburg สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
๖. ดร.พีระ สีมาขจร นักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ University of Valencia ราชอาณาจักรสเปน
นอกจากนี้ ยังมีคนไทยอีก ๑ คน ที่ได้รับการคัดเลือกจาก National Academy of Sciences สหรัฐอเมริกา คือ ดร.ศรีสุดา โรจน์เสถียร นักวิจัยหลังปริญญาเอก Arizona State University สหรัฐอเมริกา
นางสาวธัญรดา สุขวิบูลย์ กล่าวความรู้สึกว่า “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการประชุมฯ และพระราชทานโอกาสนี้แก่พวกเราทุกคนให้เข้าร่วมงาน พวกเราได้รู้ถึงแนวคิด วิธีทำงาน ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจต่าง ๆ ของนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกว่าเขาทำได้อย่างไร”
นายปรมตถ์ บุณยะเวศ กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่พระองค์ได้พระราชทานโอกาสให้ข้าพเจ้าเป็นผู้แทนประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ข้าพเจ้าจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ แนวคิด แรงบันดาลใจ และองค์ความรู้ใหม่ จากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวจะเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ และนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยเพื่อความก้าวหน้าของประเทศต่อไป”
ทั้งนี้ นิสิต นักศึกษาและนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่สนใจเข้าร่วมโครงการการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา สามารถติดต่อได้ที่งานบริหารแผนงานและจัดการโครงการพัฒนากำลังคน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โทรศัพท์ ๐๒ ๕๖๔ ๗๐๐๐ ต่อ ๗๗๒๕๗ หรือทางแฟนเพจ https://www.facebook.com/LindauNobelTH
คลิปข่าว จาก YouTube News NBT2HD