กระทรวง อว. โดย สวทช. ส่งมอบน้ำยาฆ่าเชื้อ ENERclean ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยเชียงราย
กระทรวง อว. โดย สวทช. ส่งมอบน้ำยาฆ่าเชื้อ ENERclean เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงราย โดยมี ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และ ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง กลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ ENTEC เป็นผู้แทนมอบผ่าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นาวิน พรมใจสา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ภายใต้โครงการ อว. เพื่อประชาชน เพื่อนำไปสนับสนุนการทำความสะอาดบ้านพักอาศัยและฟื้นฟูในพื้นที่ประสบอุทกภัย
“ENERclean” เป็นน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ ที่ประกอบด้วยกรดไฮโปคลอรัส (Hypochlorous acid, HOCl) เป็นองค์ประกอบหลัก (pH 4-6.5, ORP 900-1200 mV) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตของเครื่อง ENcase ในการเปลี่ยนรูปสารละลายเกลือแกง เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อ “ENERclean” มีประสิทธิภาพในการยับยั้ง/ฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียก่อโรคส่วนใหญ่ที่พบในโรงพยาบาล ในระดับ 59-60 carriers ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานทดสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค (AOAC 955.14, 955.15, 955.17 และ 964.02) มีฤทธิ์ยับยั้ง/ฆ่าเชื้อไวรัสก่อโรค (Dengue virus, Japanese encephalitis virus, Zika virus, RSV virus, Influenza virus และ SARS-CoV-2) บนพื้นผิวตามมาตรฐาน ASTM E1053-20 สามารถนำไปใช้ฆ่าเชื้อทดแทนแอลกอฮอล์ล้างมือ ทดแทนสารฆ่าเชื้อที่เป็นอันตราย จำพวกสารฟอกขาวคลอรีน สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณอาคาร ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นของคลอรีน เช่น การผสม ENERclean กับน้ำในสัดส่วน (1:1) หรือคิดเป็นความเข้มข้นคลอรีน 150-200 ppm เหมาะสำหรับฆ่าเชื้อทดแทนแอลกอฮอล์ล้างมือ ขณะที่การใช้งาน ENERclean ที่ระดับ 300-500 ppm เหมาะสำหรับฆ่าเชื้อบนพื้นผิวที่มีการสะสมเชื้อจุลชีพก่อโรคจำนวนมาก รวมถึงขยะติดเชื้อ
“ENERclean” เป็นผลงานวิจัยและพัฒนา โดย ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล และทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ร่วมกับ ดร.ฐนียา รอยตระกูล และทีมวิจัยชีววิทยาโมเลกุลของไวรัสเด็งกี่และฟลาวีไวรัส ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล และคุณภัททิยา ลักษณะเจริญ ทีมวิจัยเทคโนโลยีโปรตีโอมิกส์เชิงหน้าที่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สวทช. ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาชุดผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนเป็นส่วนประกอบด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี สำหรับบำบัดขยะมูลฝอยติดเชื้อภายในสถานประกอบการสาธารณสุข” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)