หน้าแรก “ศุภมาส” เปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.” ผนึกกำลังหน่วยงานในสังกัด หนุนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมขยายเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
“ศุภมาส” เปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.” ผนึกกำลังหน่วยงานในสังกัด หนุนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมขยายเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
8 ก.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(วันที่ 8 กรกฎาคม 2567) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติราชการร่วม อว. “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.” โดยมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่หน่วยงาน อว. สื่อมวลชน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง พร้อมโชว์นิทรรศการผลงานของ 13 หน่วยงาน อว. ที่สอดคล้องกับการดำเนินภารกิจการช่วยเหลือและสนับสนุนคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นเจ้าภาพและผู้ประสานงานหลัก โอกาสนี้ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เข้าร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้มีนโยบายนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี และตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่าง “DSS team ” กรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุ และนำไปสู่แก้ไขอย่างถูกต้องและรวดเร็วตามที่ทุกท่านทราบกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่หน่วยเดียวอย่าง DSS team ไม่สามารถแก้ไขทุกเรื่องได้ อีกทั้งหน่วยงานใน อว. มีศักยภาพสูงทั้งบุคลากร เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่าง ๆ พร้อมที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ตนจึงมอบหมายท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ประสานงานหารือกับหน่วยงานใน อว. เพื่อร่วมบูรณาการปฏิบัติภารกิจนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ

รัฐมนตรี อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่กระทรวง อว. มีความมุ่งมั่นร่วมกันในการปฏิบัติภารกิจสำคัญเพื่อพี่น้องประชาชนในนาม “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.” ซึ่งจะเป็นศูนย์ปฏิบัติการแรกที่มีพันธกิจในการเฝ้าระวัง เตือนภัย ให้ความรู้ และป้องกันแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เตือนภัยด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้ความรู้ แจ้งเตือนสถานการณ์ ให้ข้อแนะนำแก่ประชาชน และร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานราชการในพื้นที่บูรณาการกับท้องถิ่นและภาคประชาสังคม นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงพื้นที่เพื่อการพิสูจน์ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งถือเป็นการทำงานให้เกิดพลังร่วมสู่การดูแลประชาชนโดยตรง

ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดประเด็นปัญหาหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การรั่วไหลของสารอันตราย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความห่วงใยและวิสัยทัศน์ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. จึงได้สั่งการให้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว “DSS team” ของกรมวิทย์ฯ บริการ ลงพื้นที่ออกปฏิบัติการเพื่อพิสูจน์หาสาเหตุ และร่วมแก้ปัญหากับประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ตามที่ปรากฎในสื่อต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานโดย กรมวิทย์ฯ บริการ อว. เพียงหน่วยเดียวไม่สามารถครอบคลุมในทุกมิติของปัญหาหรือสถานการณ์ ดังนั้น ท่านรัฐมนตรีฯ ศุภมาส จึงดำริให้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว. เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมของหน่วยงานในสังกัด อว. ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความปลอดภัยและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พี่น้องประชาชน โดยศูนย์ฯ ดังกล่าว จะดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายหน่วยงานของกระทรวง อว. ดังนั้น ประชาชนหรือหน่วยงานสามารถแจ้งปัญหาผ่านสายด่วน 1313 ผ่าน Facebook ผู้พันวิทย์ อว. และ Line OA ผู้พันวิทย์ อว. โดยจะมีทีมงานส่วนกลางเป็นผู้รับเรื่องและประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมปฏิบัติการและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง สอดรับกับความคาดหวังและความต้องการของประชาชน และในอนาคตจะขยายขอบข่ายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึงถือเป็นการทำงานเชิงรุกก่อให้เกิดผลดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ภายในงานแถลงข่าวศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติการร่วมในสังกัด อว. เข้าร่วมแสดงผลงานนิทรรศการ 2 เรื่อง ที่เป็นตัวอย่างของทีมปฏิบัติการร่วมในศูนย์ฯ ได้แก่

1.ธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) ต้นแบบการส่งต่ออาหารส่วนเกินสู่กลุ่มเปราะบาง ที่มุ่งลดขยะอาหาร ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และสร้างการเข้าถึงอาหารได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ธนาคารอาหารของประเทศไทย ที่เข้าร่วมโครงการผู้พันวิทย์ จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กับประชากรกลุ่มเปราะบางอันจะช่วยส่งเสริมให้ลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไปด้วยกัน และมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบของการสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย สามารถนำไปใช้บรรเทาปัญหาความต้องการอาหารของประชาชนที่ขาดแคลน และขยายผลต่อในลักษณะของธนาคารอาหารแห่งชาติได้  โดย สวทช. สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ และแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) สนับสนุนนโยบาย BCG ด้านอาหารของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร มีอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดี เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน และส่งเสริมเป้าหมายด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ลดการสูญเสียอาหาร และลดการเกิดขยะอาหาร

2.คลินิกคุณภาพน้ำ โดย สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร มีผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดและพัฒนาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อชุมชน อาทิ การตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พื้นที่ขอนแก่นและลำปาง ,นวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคที่มีการปนเปื้อนฟลูออไรด์ โลหะหนัก และสารเคมีตกค้างด้วยนาโนเทคโนโลยี ,การพัฒนาฐานข้อมูลด้านคุณภาพน้ำประปาที่มีการปนเปื้อนฟลูออไรด์ โลหะหนัก และสารเคมีตกค้างด้วยนาโนเทคโนโลยีสำหรับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดลำปาง,เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาฟลูออไรด์ปนเปื้อนในน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับพื้นที่ชายขอบ,การจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่โรงเรียน ตชด. และชุมชนชายขอบ ,การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเซนเซอร์และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และปรับปรุงคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคที่มีการปนเปื้อนมลสาร เพื่อป้องกันและชะลอการเกิดโรคไตเรื้อรังและโรคที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในชุมชนรอบเขื่อน และองค์ความรู้สู่ชุมชน:นวัตกรรมกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนบ้านสัก ต.บ้านเอื้อม อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง

ทั้งนี้ด้วยการดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม จนเกิดเป็นองค์ความรู้ในเรื่อง “การตรวจวัดและพัฒนาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อชุมชน” ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. จึงได้บูรณาการองค์ความรู้ดังกล่าวมาเป็นทีมงาน “คลินิกคุณภาพน้ำ” เพื่อช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ และช่วยตรวจสอบคุณภาพน้ำ พร้อมให้คำปรึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้กับชุมชนที่ต้องการได้

แชร์หน้านี้: