(วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568) ณ ห้องบรรยาย 2 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย: ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเปิดงาน กิจกรรมค่ายและการแข่งขัน NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 (The 1st NSTDA Micro-Mouse Contest: NMMC 2025) โดยมี ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ดร.ฉัตรชัย สงวนวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทู ซิสเตอร์ บิสซิเนส คอนซัลแทนท์ จำกัด และ ผศ.ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะกรรมการโครงการฯ รวมทั้งวิทยากรจัดกิจกรรมค่าย นักเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2568 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) และการเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เน้นการผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะและความรู้ในหลากหลายมิติ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะสหวิทยาการ อาทิ การใช้เทคโนโลยี ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในช่วงวัยเรียนและวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างรากฐานความสามารถให้กับคนไทยยุคใหม่ที่พร้อมเผชิญกับโลกดิจิทัลได้อย่างมั่นคง
![]() |
![]() |
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนให้ได้รับการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 กิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้และทักษะในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงได้ริเริ่มให้มีการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์นำทางในเขาวงกต ภายใต้ชื่อ NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะหลากหลาย ทั้งด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ การออกแบบเชิงกลไก และการเขียนโปรแกรม
“ผู้เข้าแข่งขันต้องออกแบบหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่สามารถนำทางผ่านเขาวงกตได้ด้วยความแม่นยำและรวดเร็ว ต้องอาศัยการประยุกต์ใช้ทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม การวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การแข่งขันประเภทนี้เป็นมากกว่าการแสดงความสามารถด้านเทคนิค หากแต่ยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะเชิงปฏิบัติ ผ่านการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในสถานการณ์จริง”
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า ในปี 2568 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการ ถือว่าได้รับความสนใจจากน้อง ๆ นักเรียนเกินความคาดหวัง โดยมีนักเรียนจากทั่วประเทศสมัครเข้ามามากถึง 404 ทีม ซึ่งโครงการได้คัดเลือกจากใบสมัครเข้าสู่รอบการสัมภาษณ์ จำนวน 47 ทีม และในรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศในวันนี้ มีนักเรียนได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมค่าย 3 วัน (วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์) และเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวน 20 ทีม ได้แก่นักเรียน 60 คน และครูที่ปรึกษา 10 คน ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีกำหนดมอบถ้วยรางวัลในวันที่ 27 มีนาคม 2568 ในการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ประจำปี 2568 หรือ NAC2025 ทั้งนี้ขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่าน และคณะวิทยากรที่มาร่วมบ่มเพาะเยาวชนให้มีความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นองค์ความรู้พื้นฐาน รวมทั้งทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และขอขอบคุณทีมงานและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ร่วมจัดค่ายและการแข่งขันในครั้งนี้เพื่อให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเต็มความสามารถ
![]() |
![]() |