หน้าแรก ทีม ‘BRR ROBOT1’ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา คว้าแชมป์ การแข่งขัน NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1

ทีม ‘BRR ROBOT1’ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา คว้าแชมป์ การแข่งขัน NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1

18 ก.พ. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

ภาพหมู่รวมผู้บริหาร สวทช. และทีมเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขัน NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 (NMMC 2025) จำนวน 20 ทีม ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

(วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568) ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย: ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวในพิธีเปิดการแข่งขัน NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 (The 1st NSTDA Micro-Mouse Contest: NMMC 2025)  จากทีมนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยในวันนี้นักเรียนจำนวน 60 คน จาก 20 ทีมที่เข้าบ่มเพาะในค่ายฯ NMMC 2025 ได้ร่วมการแข่งขันกันตลอดทั้งวัน ในการออกแบบหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่สามารถนำทางผ่านเขาวงกตได้ด้วยความแม่นยำและรวดเร็ว ที่ต้องอาศัยการประยุกต์ใช้ทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม การวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบที่จะช่วยทำให้ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดได้ฝึกฝนทักษะเชิงปฏิบัติ ผ่านการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในสถานการณ์จริง เพื่อให้คณะกรรมการตัดสินและคัดเลือกทีมที่ชนะเลิศ เข้ารับมอบถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 27 มีนาคม 2568 ในการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ประจำปี 2568 หรือ NAC2025

ภาพดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา กล่าวเปิดงาน

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีพันธกิจเรื่องการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เติบโตมาเป็นกำลังคนที่มีความรู้ มีความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดี ดังจะเห็นได้จากการที่ สวทช. มีการก่อตั้งบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ที่เป็นสถานที่บ่มเพาะเยาวชนให้ได้รับการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น การจัดกิจกรรมค่าย รวมถึงการจัดการแข่งขันเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเป็นหนึ่งในแนวทางให้นักเรียน ได้ใช้ความรู้และทักษะในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นอกห้องเรียน

ดร.สมบุญ กล่าวต่อว่า สวทช. เริ่มให้มีการแข่งขันการแข่งขันหุ่นยนต์นำทาง ในเขาวงกตเป็นครั้งแรก ชื่อกิจกรรมว่า NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักเรียนจากทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมีนักเรียนจากทั่วประเทศสมัครเข้ามามากถึง 404 ทีม ซึ่งโครงการได้คัดเลือกจากใบสมัครเข้าสู่รอบการสัมภาษณ์ จำนวน 47 ทีม การคัดเลือกรอบที่สองเหลือ จำนวน 20 ทีม ในแต่ละทีมประกอบด้วย นักเรียน 3 คน และคุณครูที่ปรึกษา 1 คน ในระหว่างการเข้าค่ายนักเรียนจะได้เรียนรู้การออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ การควบคุมและการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ การใช้งานเซ็นเซอร์ต่างๆ รวมถึงการใช้ตรรกะในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างหุ่นยนต์นำทางในเขาวงกต ท้ายสุดนี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะวิทยากรที่ได้สละเวลาในการบ่มเพาะเยาวชนให้มีทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งทักษะด้านวิศวกรรม และขอขอบคุณศิษย์เก่าสมาคม Micro-Mouse คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยที่มาเป็นพี่เลี้ยงค่ายตลอดระยะเวลา 3 วัน และขอขอบคุณทีมงานและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ร่วมจัดค่ายและการแข่งขันในครั้งนี้เพื่อให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเต็มความสามารถ

ภาพหมู่ผู้บริหาร สวทช. ร่วมกับศิษย์เก่าสมาคม Micro-Mouse คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย รวมแล้ว 12 ท่าน มีฉากหลังเป็นโลโก้งาน MNC2025 สีน้ำเงิน ภาพบรรยากาศงานก่อนเริ่มแข่งขัน เด็กๆ ทำความเข้าใจกับเขาวงกตจำลองขนาดใหญ่ที่วางอยู่ที่พื้นห้อง

ทั้งนี้การแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้นและสนุกตื่นเต้น โดยคณะกรรมการได้ติดตามการแข่งขันตลอดทั้งวัน จากกติกาการแข่งขัน คือ ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมมีเวลา 10 นาที ในการเดินทางผ่านเขาวงกตเพื่อบันทึกเวลาที่ดีที่สุด (เวลาที่ใช้เดินจากจุดเริ่มต้นถึงจุดหมาย) การหยุดและการเคลื่อนย้ายหุ่นยนต์ต้องได้รับการอนุญาตจากกรรมการก่อนทุกครั้ง ห้ามตั้งโปรแกรมใหม่หรือเปลี่ยนแปลงระบบของหุ่นยนต์หลังจากเห็นเขาวงกต แต่อนุญาตให้เปลี่ยนการตั้งค่าบางส่วนได้ และห้ามเปลี่ยนน้ำหนักหุ่นยนต์ สำหรับ เกณฑ์การให้คะแนน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การแข่งขันตามภารกิจ 80 คะแนน และ การนำเสนอผลงาน 20 คะแนน รวมเป็น 100 คะแนน โดยการแข่งขันตามภารกิจ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ คะแนนการวิ่ง 60 คะแนน (เวลาเปรียบเทียบทีมที่ทำเวลาดีที่สุด 40 คะแนน / ระยะทางที่วิ่งได้ 20 คะแนน) และ คะแนนพิเศษ 20 คะแนน (วิ่งสำเร็จในรอบแรก ถึงจุดหมายครั้งแรกที่ลอง 8 คะแนน ไม่ชนกำแพงในแต่ละรอบ 8 คะแนน และความสมบูรณ์ของหุ่น ไม่พังหรือทิ้งชิ้นส่วนระหว่างการวิ่ง 4 คะแนน) ทั้งนี้ ชิ้นส่วนของหุ่นยนต์นำทาง ต้องทำงานได้เองโดยสมบูรณ์ ห้ามควบคุมจากระยะไกล ไม่ใช้พลังงานจากการเผาไหม้ ห้ามทำลายสนามแข่ง ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัล ได้แก่

ภาพทีมชนะเลิศ ทีม BRR ROBOT1 เป็นเด็ก 3 คนจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ถือแผ่นป้ายรางวัลชนะเลิศ

รางวัลชนะเลิศและรางวัลนำเสนอผลงานดีเด่น
“ทีม BRR ROBOT1 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา” สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายกิตติภูมิ ศิริพรมพิศาล นายยศสรัล จันทร์เขียว นายชิษณุชา สืบทิม และครูที่ปรึกษาทีม คือ นางสาวเสาวภาคย์ กาญจนกุล

ภาพทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมราชากุ้งถัง จาก โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต กรุงเทพมหานคร เป็นเด็ก 3 คน และครูที่ปรึกษาทีม ถือแผ่นป้ายรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ทีมราชากุ้งถัง จาก โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต กรุงเทพมหานคร” สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายธนพัฒน์ บูรพาวิจิตรนนท์ นางสาวณัฐชา ทิพย์ประเสริฐ นายอัครชัย จำปาทอง และครูที่ปรึกษาทีม คือ นายเจ๊ะกามา สือนิ

ภาพทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม BWS_Chani จาก โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง เป็นเด็ก 3 คน และครูที่ปรึกษาทีม ถือแผ่นป้ายรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2

และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ “ทีม BWS_Chani จาก โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง” สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายยงยศ ปีบ้านใหม่ นายกฤตนัย เป็งราชรอง นายเตชินท์ ยะฟู และครูที่ปรึกษาทีม คือ นางชนิดภา สายทอง

 

ภาพ ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พูดบรรยายในงาน

ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ในนามของ สวทช. ซึ่งเป็นผู้จัดงาน NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนทั้ง 20 ทีม ที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศในวันนี้ นักเรียนทั้ง 60 คนผ่านการคัดเลือกจาก ผู้สมัครทั่วประเทศจำนวน 404 ทีม (จำนวน 1,212 คน) ถือว่าเป็นผู้ที่มีศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรม จากการได้มาร่วมสังเกตการณ์นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายตั้งแต่วันแรก เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกทีมในการเรียนรู้ ทั้งภาคทฏษฎีและภาคปฏิบัติจากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่านอกห้องเรียน แม้ว่าบางทีมจะไม่ได้รับรางวัลก็ตาม ขอให้นักเรียนทุกท่านอย่าหยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ขอให้เวทีการแข่งขันในวันนี้เป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ดร.พัชร์ลิตา กล่าวต่ออีกว่า ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนทุกท่านที่ได้รับรางวัล สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ บรมราชกุมารี โดยจะเข้ารับถ้วยรางวัลในวันที่ 27 มีนาคม 2568 ในการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2568 หรือ NAC2025 ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2568 โดย สวทช. ขอถือโอกาสเรียนเชิญทุกท่านเข้าร่วม NAC2025 ทั้งนี้ขอขอบคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และวิทยากรทุกท่าน  น้อง ๆ นิสิตชมรมไมโครเมาส์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอขอบคุณทีมงานและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ร่วมจัดการแข่งขันเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับเยาวชนทุกคนในครั้งนี้

ภาพบรรยากาศระหว่างการแข่งขัน เด็กกำลังปรับแต่งหุ่นยนต์นำทาง แล้วนำไปทดสอบในเขาวงกตจำลอ ภาพบรรยากาศระหว่างการแข่งขัน เด็กกำลังปรับแต่งหุ่นยนต์นำทาง แล้วนำไปทดสอบในเขาวงกตจำลอ ภาพบรรยากาศระหว่างการแข่งขัน เด็กกำลังปรับแต่งหุ่นยนต์นำทาง แล้วนำไปทดสอบในเขาวงกตจำลอ
ภาพพิธีกร 2 ท่าน บรรยายในงาน ภาพบรรยากาศระหว่างการแข่งขัน เด็กกำลังปรับแต่งหุ่นยนต์นำทาง แล้วนำไปทดสอบในเขาวงกตจำลอ ภาพบรรยากาศระหว่างการแข่งขัน เด็กกำลังปรับแต่งหุ่นยนต์นำทาง แล้วนำไปทดสอบในเขาวงกตจำลอ
ภาพบรรยากาศระหว่างการแข่งขัน เด็กกำลังปรับแต่งหุ่นยนต์นำทาง แล้วนำไปทดสอบในเขาวงกตจำลอ ภาพบรรยากาศระหว่างการแข่งขัน เด็กกำลังปรับแต่งหุ่นยนต์นำทาง แล้วนำไปทดสอบในเขาวงกตจำลอ ภาพบรรยากาศระหว่างการแข่งขัน เด็กกำลังปรับแต่งหุ่นยนต์นำทาง แล้วนำไปทดสอบในเขาวงกตจำลอ

สำหรับกิจกรรม Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 (The 1st NSTDA Micro-Mouse Contest: NMMC 2025) ในปี 2568 นี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนให้ได้รับการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21และกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้และทักษะในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงได้ริเริ่มให้มีการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์นำทางในเขาวงกต ภายใต้ชื่อ NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการบ่มเพาะเยาวชนให้มีความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพและทักษะที่หลากหลาย ทั้งด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ การออกแบบเชิงกลไก และการเขียนโปรแกรมอย่างเต็มความสามารถ

แชร์หน้านี้: