หน้าแรก สวทช. ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ร่วมลงนามการเชื่อมโยงฐานข้อมูลโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์และโปรแกรม CopyCatch
สวทช. ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ร่วมลงนามการเชื่อมโยงฐานข้อมูลโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์และโปรแกรม CopyCatch
29 ก.ย. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 27 กันยายน 2564 ณ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ “การตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรม” โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์และโปรแกรม CopyCatch

โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วย รศ.ดร.ธรรมนูญ หนูจักร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในครั้งนี้ นอกจากนี้ ดร.อลิสา คงทน รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. และ ศ.ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นสักขีพยาน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบัน การทำวิจัยมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น โครงการวิจัยมักมุ่งเน้นเป้าหมายเป็นหลัก มีความต้องการใช้ประโยชน์จากการวิจัยมากขึ้น รวมไปถึงการมีผลประโยชน์ทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้มองข้าม หรือละเลยจุดบกพร่องบางอย่างไป ก่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมมิชอบทางการวิจัยขึ้น (Research misconduct) นอกจากนี้ ยังมีการทำวิจัยร่วมกันกับหลายสถาบัน ในหลากหลายมิติ นักวิจัยจึงควรตระหนักถึง Responsibility of research ให้มากขึ้น โดยแต่ละประเทศจะนิยามคำว่า Research misconduct ไม่เหมือนกัน สำหรับ สวทช. นิยามตาม National Institutes of Health (NIH) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนิยามของ Research misconduct แบ่งหลักๆ ได้ 3 ข้อ คือ 1. Fabricationการสร้างข้อมูลที่เป็นเท็จ 2. Falsification การดัดแปลง หรือแก้ไขข้อมูล เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิด และ 3. Plagiarism การลอกเลียนข้อมูลของผู้อื่น

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า การประพฤติมิชอบทางการวิจัยเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1. ตั้งใจทำ และ 2. กระทำโดยไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กรณีนี้สามารถแก้ไขด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักเรื่องจริยธรรมการวิจัย ตลอดจนหาแนวทางการป้องกัน หรือพัฒนาระบบ ให้สามารถดูแลเรื่อง Research misconduct ได้อย่างครอบคลุม ซึ่งจะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ในการสร้างผลงานทางวิชาการให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับและได้มาตรฐานสากล

ที่ผ่านมา สวทช. ได้จัดประชุมเครือข่ายพันธมิตรภารกิจ Research integrity ร่วมกับมหาวิทยาลัยตามแต่ละภูมิภาคต่างๆมากมาย จำนวนกว่า 60 สถาบัน โดยที่ประชุมเสนอแนะให้โปรแกรมตรวจสอบความคล้ายของผลงานวิชาการของประเทศไทย ที่มีอยู่ 2 โปรแกรมหลักๆ ด้วยกัน คือ โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ที่พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโปรแกรม CopyCatch ของศูนย์เนคเทค สวทช. จับมือ เชื่อมโยงฐานข้อมูลของทั้งสองโปรแกรมเข้าด้วยกัน เพื่อขยายฐานข้อมูลให้มีขนาดใหญ่ และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบัณฑิตวิทยาลัย และ สวทช. มีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันแพลตฟอร์ม anti-plagiarism ให้กับประเทศ จึงนำมาสู่พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เชื่อมโยงฐานข้อมูลโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ และโปรแกรม CopyCatch ในครั้งนี้ นอกจากวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบเอกสาร เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลต่างๆ เช่น วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ รายงานวิจัย วารสาร และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆแล้ว ยังเป็นการป้องกัน ไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการลอกเลียนงานวรรณกรรมของบุคคลอื่นด้วย โดยมีระยะเวลาของความร่วมมือ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2564 – 26 มีนาคม 2570

แชร์หน้านี้: