คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จับมือ เอ็มเทค สวทช. พัฒนาเครือข่ายงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์
17 กุมภาพันธ์ 2568 – คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุศาสตร์เพื่อนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพและการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถตอบโจทย์ทางการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพของประชาชนไทย รวมถึงการต่อยอดผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมสุขภาพของประเทศ
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 910 ชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมลงนามและแถลงถึงแนวทางการดำเนินงานในอนาคต เพื่อสร้างเครือข่ายงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ จัดแสดงและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่พัฒนาร่วมกันให้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง
ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เทคโนโลยี 3D Printing และวัสดุชีวภาพนับเป็นก้าวสำคัญในการช่วยผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการอุปกรณ์เฉพาะบุคคล เช่น โครงกระดูกเทียม หรืออุปกรณ์เสริมเพื่อการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถออกแบบและผลิตอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเวลาเมื่อเทียบกับการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ม.ล. ชาครีย์ กิติยากร รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและคู่ความร่วมมือ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงความรู้ด้านวัสดุศาสตร์เข้ากับการแพทย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย และช่วยยกระดับคุณภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า เรามุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีและวัสดุศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในวงการแพทย์ และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง และสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต ผลงานวิจัยหลายชิ้นจากความร่วมมือนี้มีศักยภาพสูงในการต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ เช่น อุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกาย (Ross – Back Support) เราหวังว่าความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีจะช่วยผลักดันให้เกิดการผลิตในประเทศ ลดการนำเข้า และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจในอุตสาหกรรมสุขภาพ
![]() |
![]() |
![]() |
ภายในงานได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “Advancing Healthcare through Material Science Innovations” โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการใช้วัสดุศาสตร์เพื่อยกระดับการรักษาทางการแพทย์ ประกอบด้วย:
- รถบริการการแพทย์ฉุกเฉินรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยโครงสร้างรถ ระบบจัดการอากาศและระบบรับแจ้งฉุกเฉินดิจิทัล
- ชุดพยุงหลังและเสริมแรงแบบกึ่งอัตโนมัติสำหรับภารกิจทางการแพทย์ (Ross – Back support)
- อาหารสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก
- อุปกรณ์ฝึกหัตถการทางการแพทย์ที่ใช้การนำของอัลตราซาวด์
- วัสดุฝึกการเย็บแผล
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการผสานองค์ความรู้ด้านการแพทย์และวัสดุศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การรักษา และสามารถผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาโครงการวิจัย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ และผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงอย่างต่อเนื่อง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร: 0-2201-2800 อีเมล์: rama.mindcenter@gmail.com