TAIST-Science Tokyo: Transforming Workforce Development Through AI in Education
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ณ ห้อง CC-403 ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการ TAIST-Science Tokyo ได้จัดงานสัมมนา ‘TAIST-Science Tokyo: Transforming Workforce Development Through AI in Education’ งานสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 (NAC2025) งานนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาระบบการศึกษาและเตรียมความพร้อมให้กับกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต
การสัมมนาเริ่มต้นด้วยกล่าวเปิดงานโดย ดร. สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา สวทช. ซึ่งเน้นถึงความสำคัญของ AI ในการขับเคลื่อนระบบการศึกษาและเตรียมความพร้อมของกำลังคนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พร้อมทั้งขอบคุณผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมงานที่มาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อพัฒนากำลังคน
ช่วงแรกของงานสัมมนาเป็นการอภิปรายกลุ่มในหัวข้อการนำ AI มาใช้พัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคใหม่ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยมีนายพรเทพ มีทุนกิจ จากส่วนทุนรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวง อว. ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ การอภิปรายได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. จินตวีร์ คล้ายสังข์ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร. ประมา ศาสตระรุจิ ผู้อำนวยการกองบริหารการวิจัยและนวัตกรรม 3 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ลิขิต ปรียานนท์ รองคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร. เทพชัย ทรัพย์นิธิ หัวหน้ากลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) การอภิปรายครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI ในการพัฒนาทักษะด้านการศึกษาและการเตรียมความพร้อมของกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.ประมา ศาสตระรุจิ กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้กำหนดแนวทางพัฒนา AI ของประเทศไทยระหว่างปี 2022-2027 ผ่าน นโยบาย อว. for AI ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นการพัฒนา 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาจริยธรรมและกฎระเบียบเกี่ยวกับ AI การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน AI การพัฒนากำลังคนด้าน AI การวิจัยและนวัตกรรม AI และการส่งเสริมนวัตกรรม AI ในองค์กรต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหลัก เช่น ระบบราง ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังสนับสนุน ระบบ Credit Bank ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริม การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการพัฒนาอาชีพ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากหลักสูตรหรือการฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันฝึกอบรม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาทักษะและปรับตัวให้ทันกับความต้องการของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมที่ใช้ AI ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยให้สามารถแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์ ดร. จินตวีร์ คล้ายสังข์ ได้กล่าวถึง Thai MOOC (Thailand Massive Open Online Course) ซึ่งเป็นโครงการที่รวบรวมหลักสูตรออนไลน์จากมหาวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนและเรียนได้ฟรีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จากทุกที่ทุกเวลา เพื่อส่งเสริม การเรียนรู้ออนไลน์แบบเปิดกว้าง ให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างสะดวกโดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่หรือเวลา อีกทั้งโครงการยังนำ เทคโนโลยี AI มาใช้ในการวิเคราะห์และแนะนำหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนตามความสนใจ ทักษะพื้นฐาน และเป้าหมายอาชีพ ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการมากขึ้น เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตนเองให้กับประชาชนทุกกลุ่มอย่างไร้ขีดจำกัด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ลิขิต ปรียานนท์ กล่าวถึงบทบาทของอาจารย์ในยุค AI โดยเน้นว่า AI จะช่วยอาจารย์ในการทำงานต่าง ๆ เช่น การจัดทำแผนการสอน การให้คะแนน และการวิจัย อย่างไรก็ตาม ดร. ลิขิต ได้ย้ำว่าแม้ AI จะเข้ามาช่วยอาจารย์ในหลาย ๆ ด้าน แต่ยังคงมีทักษะบางอย่างที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ เช่น ทักษะด้านอารมณ์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ อาจารย์ในอนาคตจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนา soft skills เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การสร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร. เทพชัย ทรัพย์นิธิ กล่าวว่า สวทช. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้าน AI และขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ให้เกิดการใช้งานในภาครัฐและเอกชน เช่น โครงการ AI Workforce Development ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบปรับตัว (Adaptive Education) อาทิ LEAD Platform สำหรับการเรียนรู้เชิงลึกด้าน AI BookRoll เครื่องมือสนับสนุนการศึกษาผ่านการวิเคราะห์พฤติกรรมการอ่าน KidBright แพลตฟอร์มการเรียนรู้ AI และ STEM สำหรับเยาวชน และ ABDUL Chatbot ระบบแชตบอทที่ช่วยตอบคำถามและสนับสนุนการเรียนรู้ นอกจากนี้ โครงการ Super AI ของ สวทช. ยังผลิตบุคลากร AI ครอบคลุมทุกระดับเพื่อตอบโจทย์การใช้งาน AI ในภาคการเงิน กฎหมาย ท่องเที่ยว การศึกษา เกษตร และอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การพัฒนากำลังคนด้าน AI มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น ศูนย์กลาง AI ในภูมิภาคอาเซียน
![]() |
![]() |
ในช่วงที่สองของงานเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยของศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบันจากโครงการหลักสูตร AIoT ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้ AI ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ดร. ปิโยรส ตั้งธรรมธิติ ศิษย์เก่าโครงการจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอเรื่อง “AI Localization: Streamline Communications through AI” และ Miss Zun Khet Wai ศิษย์เก่าโครงการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอเรื่อง “Short-Term Sun Coverage Prediction Using Cloud Movement Pattern Feature in PV System” นายจักรภัทร์ โชคชัยสิริ นักศึกษาปัจจุบันจากโครงการหลักสูตร AIoT SIIT นำเสนอเรื่อง “Enhancing Iris Verification through Multiple Distance Measurement Fusion and Enrollment Screening Mechanism” และ Mr. Rady LY นักศึกษาปัจจุบันจากโครงการหลักสูตร AIoT มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอเรื่อง “3D LiDAR-Based Human Tracking for Dynamic Indoor Environments” งานวิจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของ AI ในด้านการสื่อสาร พลังงานหมุนเวียน ระบบความปลอดภัยทางชีวมิติ และการติดตามบุคคลในสภาพแวดล้อมภายในอาคาร
การสัมมนานี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้าน AI ในการพัฒนาระบบการศึกษา และเตรียมความพร้อมให้กับกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ AI เพื่อยกระดับการเรียนการสอน ตลอดจนเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตในภาคการศึกษา ทั้งนี้ โครงการ TAIST-Science Tokyo คาดหวังว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในการพัฒนาและยกระดับระบบการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ